โรงพยาบาล 'น้ำพอง-อุบลรัตน์' ต้นแบบ รพ.ประชารัฐ   


4 กันยายน 60 11:44:28

“การทำงานต้องมีส่วนร่วม อย่างเรื่องสาธารณสุข ไม่ใช่แค่หมอ แค่พยาบาล แต่เป็นเรื่องของชาวบ้านทุกคนที่ต้องร่วมกันทำ ร่วมกันเป็นเจ้าของ เหมือนอย่างรพ.ประชารัฐ ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีรพ.ที่เป็นต้นแบบเรื่องนี้…” นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวระหว่างพาสื่อมวลชนตรวจเยี่ยม รพ.น้ำพอง และรพ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560

โรงพยาบาลประชารัฐ คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และญาติที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลอย่างเข้าถึงและเป็นธรรม โดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และชาวบ้านในพื้นที่ ร่วมกันบริหารจัดการปัญหาสุขภาพ สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของ โดยมีนพ.วิชัย อัศวภาคย์ ผอ.รพ.น้ำพอง และ นพ.อภิสิทธิ์ ธรรมวรางกูร ผอ.รพ.อุบลรัตน์ ทำการพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน(รพช.) ให้มีศักยภาพเทียบเท่า รพ.ขนาดใหญ่ แต่ยังสร้างความมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านรู้สึกว่าเป็นเจ้าของรพ.ร่วมกัน ไม่ใช่แค่รัฐเป็นเจ้าของเท่านั้น

นพ.วิชัย เล่าว่า การทำงานรูปแบบ รพ.ประชารัฐ อาศัยองค์ประกอบหลัก คือ 1.Public รัฐก่อสร้างตึก หรือสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ 2.Private เอกชนสร้างเป็นอาคาร เครื่องมือแพทย์ การการจ้างผู้พิการ 3.People ประชาชนมีส่วนร่วม บริจาคเพื่อสุขภาพดี หากเจ็บป่วยมีห้องพิเศษนอน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม บริจาควันละ 3 บาท หรือปีละประมาณ 1,000 บาท เพื่อร่วมกันสมทบทุนสร้างอาคารห้องพิเศษ 6 ชั้น 80 ห้อง คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางปี 2561 เพื่อรองรับผู้ป่วยและญาติที่เข้ารับการรักษามีห้องพักเป็นส่วนตัว โดยเป้าหมาย หาก 10,000 คน มีส่วนร่วมจ่ายคนละ 1,000 บาทต่อปี จะได้ประมาณปีละ 10 ล้านบาท โดย 70% จ่ายค่าห้องคืนรพ. เนื่องจากไม่ใช่ทุกคนจะต้องนอนแอดมิทในรพ. เพราะการมีสุขภาพดีย่อมดีที่สุด แต่การช่วยกันก็เหมือนเป็นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขให้ผู้อื่น

“ที่สำคัญเงินส่วนนี้ยังเอาไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆอีก โดยอีก 30% จะนำส่งนักเรียนทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและกลับมาทำงานที่รพ. ขณะเดียวกันก็ยังนำไปพัฒนาคลินิกหมอครอบครัว ทำงานเชิงรุกด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคอีก ซึ่งแน่นอนว่าการดำเนินการตรงนี้มีคณะกรรมการคอยตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นคนในพื้นที่น้ำพองมาช่วยกันนั่นเอง” นพ.วิชัย กล่าว

ด้านนพ.อภิสิทธิ์ กล่าวถึงรพ.อุบลรัตน์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่มีอาคารห้องพิเศษ 20 ห้อง จากการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ว่า จริงๆแล้วในส่วนของรพ.น้ำพอง และรพ.อุบลรัตน์ การทำงานที่สำคัญคือ การสอบถามความคิดเห็น เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยรพ.อุบลรัตน์ ก่อนหน้านี้เคยสอบถามพบว่า ชาวบ้านอยากได้รพ.ที่ไม่ต้องถึงกับฟรี แต่ไม่ต้องหมดเป็นหมื่นเป็นแสน และไม่อยากรอคิวนานเป็นวันๆ จึงเป็นที่มาว่าต้องทำให้เป็นรพ.ประชารัฐ

“จริงๆมีหลายรูปแบบ แต่ที่นี่เราเน้นการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข อย่างห้องพิเศษ ผู้ที่ไม่ป่วยก็มาช่วยบริจาคปีละ 1,000 บาท หากเจ็บป่วยก็ได้นอนห้องพิเศษ หากไม่เจ็บป่วยก็ได้บุญที่ได้ช่วย ซึ่งนอกจากเงินที่เข้ามาจะไปจ่ายค่าห้องพิเศษราคาไม่สูงมากแล้ว ที่เหลือ 1 ใน 3 เรายังนำไปส่งเยาวชนจิตอาสาที่อยากเป็นพยาบาลชุมชนไปเรียนเป็นพยาบาลชุมชน พร้อมทั้งจ้างงานมาเป็นพยาบาลประจำตึกสงฆ์อาพาธ และห้องพิเศษสัปดาห์ละ 3-4 วัน และอีกสัปดาห์ละ 1-2 วัน ไปทำงานในหมู่บ้านหรือตำบลบ้านเกิด เพื่อเยี่ยมผู้ป่วย ชวนคนในชุมชนร่วมกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย เป็นต้น” นพ.อภิสิทธิ์ กล่าว

ที่สำคัญยังมีกระบวนการเพื่อผู้บริจาคที่บริจาคแล้วบริจาคไม่ไหว ให้สามารถบริจาคได้ต่อไปด้วย “ยุทธศาสตร์กล้วยกล้วยหมูหมู” โดยเอาหน่อกล้วยไปปลูก 10 หน่อขึ้นไป และนำลูกหมูไปเลี้ยงสัก 1 คู่ โดยลูกหมูจะถ่ายมูลมาเป็นปุ๋ยให้หน่อกล้วย ทำให้ได้เครือกล้วยขนาดใหญ่ และผลกล้วยใหญ่ไม่ต่ำกว่า 10 เครือ เครือละ 100 บาท ได้เงินไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท และลูกหมูจะออกลูกได้ไม่ต่ำกว่า 2 คอก รวมมากกว่า 5 ตัว ตัวละ 600 บาทขึ้นไป จำหน่ายได้มากกว่า 3,000 บาท สามารถนำไปขยายกิจกรรมทางเกษตร ซึ่งรายได้ตรงนี้ส่วนหนึ่งเพียงปีละ 1,000 บาทจะนำมาบริจาคให้แก่รพ. ที่เหลือก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่ครอบครัว และยังชวนสมาชิกครอบครัวร่วมบริจาคเพิ่มได้อีก

อีกทั้ง รพ.อุบลรัตน์ ยังร่วมมือกับภาคเอกชน ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการในการจ้างงานตามมาตรา 35 พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 โดยบริษัทเอกชนให้ความร่วมมือดีมาก เช่น บริษัทฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจในเครือ SCG จะเป็นผู้ว่าจ้าง และส่งมาทำงานที่รพ. ในการสนับสนุนการบริการต่างๆ อาทิ ทำความสะอาด ปลูกต้นไม้ดูแลสวน หรือการตัดผม การนวดแผนไทย เป็นต้น

นางสุรีดา แก้วนารี ผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท พานาโซนิค แมนูแฟคเจอริง(ประเทศไทย) ตัวแทนชาวน้ำพอง มองว่า รพ.ประชารัฐ เป็นรพ.ที่ชาวบ้านจับต้องได้จริงๆ เห็นได้ชัดจากหากเจ็บป่วยจนต้องนอนรพ.ก็สามารถพักรักษาตัวห้องพิเศษได้ ไม่ต้องถึงกับร่ำรวยไปรพ.เอกชน เพราะชาวบ้านมีความกลัวในการไปรักษารพ.เอกชนที่ค่ารักษาสูง โดยจ่ายคนละแค่ 3 บาทต่อวัน ตกปีละ 1,000 บาท หากเจ็บป่วยต้องนอนรักษาตัวก็สามารถอยู่ห้องพิเศษได้ ซึ่งตนก็มีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย

อีกรูปแบบของรพ.ประชารัฐ ที่ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

ขอขอบคุณภาพและข่าว

 เขียนโดย วารุณี สิทธิรังสรรค์







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS