สธ.เปิดตัวแอป 'สบายใจ' หวังลดความสูญเสีย พบขอนแก่นฆ่าตัวตายสูงสุดในอีสาน   


13 กรกฎาคม 60 20:19:21

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตได้มาเป็นประธานเปิดโครงการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการป้องกันการฆ่าตัวตาย ณ ห้องประชุมโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น โดยมี นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ดำเนินงาน ตามวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานที่ดีในการดำเนินการป้องกันการฆ่าตัวตายให้แก่เครือข่ายนักวิชาการทุกวิชาชีพที่ร่วมรับผิดชอบการปฏิบัติงานด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายทั้งในระดับประเทศ กลุ่มประเทศอาเซียน ตลอดจนประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ที่มีความสนใจและความร่วมมือในการพัฒนาด้านการป้องกันการฆ่าตัวตายให้มีประสิทธิภาพในการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องต่อไป มีผู้เข้าร่วมโครงการมาจากบุคลากรสาธารณสุข/นักวิชาการ ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ นักวิชาการต่างประเทศด้านสาธารณสุข และบุคลากร/ นักวิชาการด้านสาธารณสุขในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ กล่าวว่า ในปัจจุบันปัญหาการฆ่าตัวตายมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น จากรายงานอุบัติการณ์ฆ่าตัวตายของประชากรโลกในปัจจุบันขององค์กรอนามัยโลก พบว่า ในระยะเวลา 46 ปี ที่ผ่านมามีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มร้อยละ 60 จึงมีการคาดการณ์ไว้ว่าปี 2563 ทั่วโลกจะมีผู้ฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1.53 ล้านคน และมีผู้พยายามฆ่าตัวตายอีกประมาณ 10 – 20 เท่า ของผู้ฆ่าตัวตาย นั่นคือจะมีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 1 คน ทุก 20 วินาที และพยายามฆ่าตัวตาย 1 คน ทุก1-2 วินาที

ส่วนในประเทศไทยสถานการณ์ฆ่าตัวตายสำเร็จ 2 – 3 ปี ที่ผ่านมา สถิติบอกว่าประชากร 5 คน / 100,000 คน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตลอดเวลา โดยมีปัจจัยหลายอย่างนำไปสู่การฆ่าตัวสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียคนที่รัก คนที่เคารพนับถือนำมาสู่ความโศกเศร้า และในเรื่องสารเสพติดที่เกี่ยวข้องอย่างมากที่ทำให้สุขภาพจิตนำมาสู่การฆ่าตัวตายสำเร็จ ส่วนมากจะอยู่ในวัยทำงานที่เป็นวัยกลางคน ปัจจุบันก็เข้ามาสู่ผู้สูงอายุมากขึ้นเพราะถูกทอดทิ้ง และคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า จึงคิดทำร้ายตัวเองด้วยการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีพฤติกรรมหลายอย่าง เช่น ทำร้ายตัวเองแบบกะทันหัน ผู้ที่ตัวเองเจ็บป่วยมาโดยตลอด จึงใช้วิธีกินยาฆ่าตัวตาย

ดังนั้น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดตัว แอปพลิเคชั่น Sabaijai (สบายใจ) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นช่วยประเมินสภาวะทางด้านจิตใจที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง เพื่อเป็นการป้องกันการฆ่าตัวตาย โดยภายในแอปพลิเคชั่น มีแบบคัดกรองให้ทำเพื่อประเมินสภาวะความเสี่ยง รวมถึงบทความให้กำลังใจเกี่ยวกับการใช้ชีวิต และเมนูเพื่อแก้ไขข้อข้องใจเกี่ยวข้องกับปัญหาการฆ่าตัวตาย ถ้าผู้ป่วยได้รับการประเมินความเสี่ยง โดยการประเมินความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย การตรวจสภาพจิต ประวัติทางจิตสังคม การถามเกี่ยวกับความคิดฆ่าตัวตายในปัจจุบัน สิ่งที่สำคัญคือบุคลากรทางด้านสุขภาพจะต้องรู้สัญญาณเตือน การคัดกรองผู้ป่วยซึมเศร้าและให้การบำบัดที่ดีจากระดับปฐมภูมิจะช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายได้?ในส่วนนพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เปิดเผยว่า เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมารพ.จิตเวชขอนแก่นฯได้ดำเนินโครงการรณรงค์ในวันป้องกันการฆ่าตัวตายโลก “ชวนคนอีสานฮักแน่แค่ฮัก” พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสบายใจ เพื่อป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ต้นปี 2560 เป็นต้นมา เมื่อนำสถิติของแต่ละภาคมาเทียบสัดส่วนเป็นที่น่าห่วงใยว่า ภาคเหนือตอนบนมีสัดส่วนของการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นมากกว่าภาคอื่นๆ ส่วนภาคอีสานและภาคกลางจะมีสัดส่วนพอๆกัน

“ในภาคอีสานเมื่อวิเคราะห์ลงลึกไปตามรายจังหวัดจะพบว่า คนจังหวัดขอนแก่นฆ่าตัวตายสูงที่สุด 6.81 ต่อประชากรแสนคน รองลงมาเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ 6.19 ต่อประชากรแสนคน มหาสารคาม 5.72 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดร้อยเอ็ด 4.82 คนต่อประชากรแสนคน และพบว่าอัตราที่เพิ่มขึ้นผู้ชายเขตนี้ตายสูงกว่าผู้หญิง 5 เท่า อายุต่ำสุดคือ 12 ขวบ สูงสุดคือ 83 ปี วิธีการฆ่าตัวตายส่วนใหญ่ใช้วิธีการแขวนคอมากถึงร้อยละ 80.4 รองลงมาคือการกินยากำจัดวัชพืช และยาฆ่าแมลง ซึ่งมีอาชีพเกษตรกร และรองลงมาคือกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทางโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ จึงได้ทำโครงการ “แอปพลิเคชั่นสบายใจ” โดยเราต้องช่วยให้คนที่จะฆ่าตัวตายอย่าไปทำร้ายตัวเอง และอย่าคิดว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต ต้องเข้าไปพูดคุยกับเขาให้เขาเกิดความสบายใจ พร้อมกับช่วยคนที่จะคิดฆ่าตัวตายแก้ปัญหามาตั้งแต่ปี 2559 ได้รับความสนใจอย่างมาก ปี 2560 จึงได้ดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่อง” นพ.ณัฐกร จำปาทอง ผอ.รพ.จิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กล่าว.

ขอขอบคุณภาพและข่าว

คุณก่อสิทธิ์ กองโฉม ขตว.เดลินิวส์ ขอนแก่น







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS