49 จังหวัดสอบตก ผลประเมินประสิทธิภาพจังหวัดรอบแรก 'ขอนแก่น โคราช ชลบุรี ภูเก็ต' เกณฑ์ต้องปรับปรุง   


12 มิถุนายน 60 11:04:47

       วันนี้ (11 มิ.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า หลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ออกคำสั่ง ที่ 5/2559 เรื่อง มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูประบบการบริหารราชการแผ่นดิน มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และต่อมาคณะรัฐมนตรี 5 เม.ย. 59 เห็นชอบแบบประเมินส่วนราชการตามคำสั่ง หัวหน้า คสช. มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบการดำเนินงานของส่วนราชการในการขับเคลื่อนภารกิจสำคัญของรัฐบาล การแก้ไขปัญหา และการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และเพื่อเพิ่มศักยภาพของส่วนราชการในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ
       
       ล่าสุด มีรายงานว่า สำนักงาน ก.พ.ร. โดยคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ (ค.ต.ป.) ที่มี นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาผลการตรวจสอบและประเมินผลภาคราชการ และจังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2560 ได้จัดส่งผลการประเมินผลส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ เฉพาะในส่วนของจังหวัด 76 จังหวัด ให้กับจังหวัดต่างๆ แล้ว ซึ่งเป็นผลการประเมิน รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2560
       
       ทั้งนี้ พบว่า มีเพียงจังหวัดชัยนาท เพียงจังหวัดเดียวที่ได้เกณฑ์ “คุณภาพ” วงกลมสีเขียว คะแนนเต็ม 100 คะแนน ขณะที่อีก 26 จังหวัดผ่านการประเมินในเกณฑ์ “มาตรฐาน” วงกลมสีเหลือง เช่น เชียงใหม่ (95) น่าน (95) บึงกาฬ (95) ส่วนอีก 49 จังหวัด อยู่ในเกณฑ์ “ต้องปรับปรุง” วงกลมสีแดงโดยมีจังหวัดขนาดใหญ่ เช่น จ.ขอนแก่น (65) จ.นครราชสีมา (40) ชลบุรี (40) พิษณุโลก (40) และ จ.ภูเก็ต (25) อยู่ในข่ายด้วย ขณะที่ จังหวัดชุมพร เพียงจังหวัดเดียวที่มีคะแนน ต่ำสุด เพียง 15 คะแนน
       
       สำหรับรอบการประเมินส่วนราชการและจังหวัดประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 กำหนดรอบการประเมินตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้ รอบที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม ของทุกปี รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ถึงวันที่ 30 กันยายน ของทุกปี
       
       โดยการประเมินครั้งที่ 1 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการปฏิบัติราชการ และทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงนิยาม และวิธีการประเมินผลตัวชี้วัด รวมทั้งสังเกตการณ์สถานที่ดำเนินการและสถานที่ให้บริการที่สอดคล้องกับการปฏิบัติราชการ ตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ ส่วนครั้งที่ 2 เพื่อรับทราบผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ และตรวจสอบเอกสารหลักฐานอ้างอิงที่ใช้ประกอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการตามคำรับรองการปฏิบัติราชการ

      

       มีรายงานว่า มาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ (มาตรา 44) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ของจังหวัด เพื่อประเมินประสิทธิภาพในการดำเนินงานตามหลักภารกิจพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด หรือการบูรณาการการดำเนินงานหลายพื้นที่หรือหลายหน่วยงาน (Area Based) คะแนนเต็ม 100 คะแนน ตัวชี้วัดในการดำเนินงานตามภารกิจในพื้นที่/ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด การบูรณาการระบบการปฏิบัติงานร่วมกันหลายหน่วยงานที่มีภารกิจร่วมกันในพื้นที่ การบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวง/หน่วยงาน/จังหวัด และการดำเนินการตามนโยบายประชารัฐ
       
       กำหนดตัวชี้วัดเป็นร้อยละ ในการดำเนินการตามแผนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชน กำหนดตัวชี้วัดเป็นร้อยละการชี้แจงประเด็นสำคัญที่ทันต่อสถานการณ์ และ กำหนดตัวชี้วัดร้อยละของประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่รับรู้และเข้าใจในการดำเนินงานตามนโยบายสำคัญของรัฐบาล ทั้งนี้ รวมถึง การชี้แจงประเด็นข่าวที่มีคุณภาพและรายงานเข้าสู่ระบบ PMOC ได้ทันตามระยะเวลาการตอบสนองที่กำหนดไว้ (ร้อยละ 100)
       
       มีรายงานด้วยว่า สำนักงาน ก.พ.ร. ยังได้พัฒนาและปรับปรุงระบบ ผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาไปสู่การเชื่อมโยงกับระบบ PMOC ที่สำนักโฆษกฯ และกรมประชาสัมพันธ์ ร่วมกันกำหนดประเด็นข่าวที่ต้องการให้ส่วนราชการชี้แจง และกำหนดส่วนราชการที่ต้องการให้ชี้แจง รวมทั้งกำหนดระยะเวลาที่ต้องการให้ตอบสนองของแต่ละประเด็นข่าวเข้าสู่ระบบฯของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การรายงานผลรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ขอขอบคุณภาพและข่าว







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS