Big Story 'ขอนแก่น เมกะซิตี้ เมืองนี้คืออนาคต' (ชมคลิป)   


11 พฤษภาคม 60 20:59:50

Big Story ชุด ขอนแก่น Mega City : เมืองนี้คืออนาคต ตอนที่ 1 "กว่าจะเป็น  ขอนแก่น สมาร์ทซิตี้ 2030"

การเติบโตของเมืองขอนแก่นที่ขยายตัวขึ้นในทุกมิติ   ทำให้นักธุรกิจรุ่นที่ 2 มองไปถึงอนาคตของเมืองที่อยากจะเป็น  โดยได้ลงมือเริ่มต้นสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ผ่านการเป็น เมืองอัจฉริยะ  ซึ่งเป็นไปได้จริงแล้วเป็นเมืองแรกของประเทศ 

ปี 2556  นักธุรกิจขอนแก่น  รุ่นที่ 2  ใน 24 ตระกูลแซ่   พวกเขามองว่าขอนแก่นคือบ้าน  เป็นเมืองที่มีศักยภาพเติบโตสูง   แต่หากบ้านสวยไร้ซึ่งการวางแผน-พัฒนา บ้านของพวกเขาในอนาคตอาจเสื่อมโทรม นักธุรกิจเลือดขอนแก่นจึงลงขันรวม 200 ล้านบาท ก่อตั้ง "กองทุนพัฒนาเมือง" บริหารเงินกองทุนโดย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (ขอนแก่น ธิงค์ แทงค์) หรือ เคเคทีที  ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์  เมื่อวันที่ 9 มกราคม ปี 2558 ตัวแทนนักธุรกิจ KKTT  วางตำแหน่งตัวเองเป็นตัวเร่งให้เมืองเติบโต ช่วยกันสร้าง ช่วยกันทำ 

ถัดมา 2 เดือนขอนแก่นรุกคืบไม่หยุด เดือนมีนาคมที่ผ่านมา(2560) กระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้ 5 เทศบาลในจังหวัดขอนแก่น จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นทรานซิสเต็ม จำกัด หรือ KKTS ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 มีหน้าที่ "ดำเนินโครงการ, บริหารจัดการและจัดเก็บรายได้"ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ โดยเฉพาะ LRT ขอนแก่น  ซึ่งพาดผ่านพื้นที่ 5 เทศบาล

10 มิถุนายน 2558  ขอนแก่นได้จัดทำแผนแม่บนขนส่งมวลชน LRT  5 เส้นทาง -  สนข.อนุมัติงบประมาณศึกษา และคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้จัดทำสายท่าพระ-สำราญ เป็นเส้นทางแรก  และ 8 มีนาคม 2559 นายกรัฐมนตรีลงนามอนุมัติแผน "โครงการสมาร์ทซิตี้" จังหวัดขอนแก่น

สมาร์ทซิตี้  มาตรฐานสากล  ประกอบไปด้วย 6 สาขา  ได้แก่ Smart Mobility, Smart Living, Smart Citizen,Smart Economy, Smart Environment  และ Smart Governance  ซึ่งการจะเป็น Smart City  ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกสาขา   ขอนแก่นเลือกสร้างเมืองอัจฉริยะโดยใช้ " Smart Mobility"  นำเพื่อ "เปลี่ยนเมือง - เปลี่ยนคน "  

ภาคธุรกิจขอนแก่น  ยังได้จัดตั้ง บริษัท ขอนแก่น ไมซ์ แมเนจเมนต์ จำกัด หรือ KKMM  ดำเนินธุรกิจไมซ์และทุกอย่างที่เป็นกิจกรรมของจังหวัด  อำนวยความสะดวกให้ผู้มาใช้บริการงานประชุม   แต่ไม่เป็นคู่แข่งผู้ประกอบการ หากต้องการหารือคนสำคัญในขอนแก่น เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือศึกษาดูงาน  KKMM จะเป็นวันสต็อปเซอร์วิสให้ เพื่อให้เมืองเป็นสมาร์ทซิตี้มากขึ้น KKTT ได้ลงนามร่วมกับ Thailand IoT Consortium  ในโครงการ KHON KAEN SMART CITY : Internet of Thing เพื่อนำเอา iOT มาบริหารจัดการ 3 โครงการได้แก่  Smart Parking ช่วยให้การจอดรถง่ายขึ้น , Smart Pollution ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดมลภาวะทางอากาศใน ซิตี้บัส 10 คัน เก็บรวบรวมข้อมูลขณะรถวิ่ง  และโครงการแก้ไขป้องกันน้ำท่วม โดยจะติดตั้งเซ็นเซอร์ในท่อระบายน้ำ บอกสถานะพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก  

ทั้งหมดคือความหวังใหม่ที่คนขอนแก่นอยากเห็น และมันเป็นจริงแล้ว  ด้วยการเปิดทาง-ร่วมกัน  เพื่อ Shift Mode ขอนแก่น ภายใต้แนวคิดการปรับการทำงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ให้เป็นแบบ "สมสมัย"  ที่เทศบาลนครขอนแก่นกำลังทำ การเติบโตของภาคเศรษฐกิจและการปกครองในท้องถิ่นที่เกิดขึ้น  มาจากการเปิด "มิติ"  แห่งการร่วมมือกันของภาครัฐและเอกชน  ที่กลมเกลียวกันโดยสมบูรณ์แบบ เป็นต้นแบบของสเตปการเดินเข้าสู่สมาร์ทซิตี้ได้เป็นจริงจังหวัดแรกของ ประเทศ 

 

Big Story ชุด ขอนแก่น เมกะ ซิตี้ เมืองนี้คืออนาคต ตอนที่ 2 "แบรนด์  'ไดโน่' โลโก้เมืองขอนแก่น"

การเป็นสมาร์ทซิตี้ของจังหวัดขอนแก่น นอกจากจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อปูทางสู่ปัจจุบันไปถึงอนาคต  ขณะเดียวกันการสร้างแบรนด์จังหวัด  ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคุณค่าและมูลค่าให้จังหวัดมากขึ้น จากภาพสเก็ตฟรีแฮนด์ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กลายมาเป็นภาพต้นแบบในการสร้างสติ๊กเกอร์ไลน์ "ไดโน่ ขอนแก่น"  ซึ่งเปิดจำหน่ายในไลน์ สติ๊กเกอร์ แล้วในราคา 30 บาท  หลังเปิดดาวน์โหลดเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา  ภายใน 1 เดือนมีคนซื้อสติ๊กเกอร์ไลน์ 40,000 คน  ทำให้พ่อเมืองขอนแก่นและทีม KKMM กำลังพัฒนาสติ๊กเกอร์ไลน์ ไดโน่ ดุ๊กดิ๊ก เคลื่อนไหวได้  เพื่อสร้างแบรนด์ขอนแก่นซึ่งเป็นไมซ์ ซิตี้, สมาร์ทซิตี้, อีเวนท์ ซิตี้และเฮลท์ ซิตี้   และเตรียมนำโลโก้  ไดโน่  ไปประกวดคาแรคเตอร์ที่ไซตามะ ประเทศญี่ปุ่นในปีหน้า  

นี่คือ Key Man ขอนแก่น  นอกจากจะสวมหมวกการเป็นพ่อเมืองแล้ว  เขายังภูมิใจ "สร้างแบรนด์ขอนแก่น" ให้ติดตา  ติดใจ ทุกคนที่ก้าวเข้ามาในมหานครขอนแก่นแห่งนี้ รำวงไดโน่ จะเป็นเพลงที่ถูกเปิดในงานอีเวนต์ทุกงานของจังหวัด  เพื่อสร้างการจดจำแบรนด์ขอนแก่นให้ติดหู  นอกจากชื่อที่จำง่ายแล้ว  เนื้อร้องยังแฝงไปด้วยการบอกจุดแข็งเมืองขอนแก่น  ซึ่งเป็นเมืองแห่งการจัดประชุมสัมมนา, เป็นสมาร์ทซิตี้, เฮลต์ ซิตี้และเมืองแห่งการศึกษา 

ขณะนี้ จังหวัดขอนแก่นอยู่ระหว่างการสร้าง "ไดโน่ ชอป"   ร้านขายของที่ระลึกแบรนด์ไดโน่  ที่โรงแรมโฆษะ  เป็นแห่งแรก  โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา   สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไดโน่  ได้กว่า 25,000 ชิ้น  แต่นั่นยังไม่ใช่ขั้นสุดของความสำเร็จ  เพราะผู้ว่าราชการจังหวัด   เตรียมเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ โอทอป  โดยได้สั่งการให้นายอำเภอ 26 อำเภอ  ให้พัฒนาสินค้าโอทอป 3-5 ดาว  และให้คณะทำงานไดโน่คัดเลือก-พิจารณา   เพื่อนำสินค้าติดแบรนด์ไดโน่จำหน่ายในชอป   พร้อมเชิญเชฟดังที่มีชื่อเสียง  มาอบรมทำแบรนด์ไดโน่กลุ่มอาหารและขนม  เพื่อใช้ในงานประชุมสัมมนา  และจะเปิดร้านกาแฟไดโน่ในอนาคตอีกด้วย 

นอกเหนือจากสินค้าเตรียมจะพัฒนาแล้ว    ยังมีการจัดกิจกรรมเสริม  อย่างเทศกาลโคมไฟไดโน่  โดยนับตั้งแต่เปิดแสดงมามีผู้เข้าชมแล้ว 80,000 คน พ่อเมืองขอนแก่นยืนยันว่า  แบรนด์ไดโน่จะช่วยให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของขอนแก่นได้อย่างน้อย 8% โดยปัจจุบันรายได้ของจังหวัดขอนแก่นมากที่สุดในภาคอีสาน  อยู่ที่ประมาณ 194,000 ล้านบาท  ส่วนใหญ่มาจากภาคการท่องเที่ยวซึ่งมาจากการจัดประชุมและนิทรรศการ  ทั้งหมดยืนยันได้ว่า   แบรนด์คือคุณค่า  และแบรนด์ไดโน่  คือ "คุณค่าที่สร้างมูลค่า" ให้กับขอนแก่นได้จริง

Big Story ชุด ขอนแก่น Mega City เมืองนี้คืออนาคต ตอนที่ 3 : ขอนแก่นเมืองอัจฉริยะ ไม่ละทิ้งตัวตนเมือง

หลังจากขอนแก่นรื้อสิ่งปลูกสร้างเดิมเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟทางคู่   ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น  คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  จึงลงพื้นที่รังวัด - ร่างแบบสิ่งปลูกสร้างเก่าแก่เพิ่มเติม   คงไว้ซึ่งที่มาของเมืองพร้อมกับการเป็นสมาร์ทซิตี้  ทีมนักศึกษา สาขาวิชาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และวิชาบริบทเมืองฯ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยหัวหน้าภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ลงพื้นที่รังวัดอาคารและร่างแบบสนาม  เก็บรายละเอียดบ้านพักรถไฟ 6 หลัง จากทั้งหมด 30 หลัง  เพื่อบันทึกรายละเอียดบ้านไทยแท้ร่วมสมัย  ที่เกิดขึ้นพร้อมกับสถานีรถไฟขอนแก่น สัญลักษณ์ของความเจริญภาคอีสาน  ที่มีอายุ 83 ปี หลังจากก่อนหน้านี้ได้เก็บรายละเอียดอาคารสถานีรถไฟ 4 หลัง ก่อนจะถูกรื้อและนำไปก่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองแห่งที่ 2  

เมื่อเมืองต้องพัฒนา  แต่คุณค่าของสถาปัตยกรรม  ยังคงต้องดำรงไว้   บ้านพักรถไฟจึงเป็นหนึ่งในงานใหญ่ของทีมนักศึกษา  บันทึกทุกรายละเอียดไว้เป็นข้อมูลสำคัญ   นำไปใช้ต่อในอนาคต   พวกเขา คือ อาสาสมัคร VERNADOC ฟันเฟืองตัวเล็กแต่กลับยิ่งใหญ่มหาศาล  เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเมืองขอนแก่นให้เติบโตเป็นเมืองอัจฉริยะ  แต่ไม่ละทิ้งตัวตนความเก่าแก่ของเมือง  รายละเอียดทุกด้าน  พวกเขาทำด้วยใจ  แม้งานครั้งนี้  จะยากกว่าที่เคยทำมาก็ตาม

หลังจากทยอยเก็บแบบรังวัดบ้านพักและอาคารภายในสถานีรถไฟขอนแก่นแล้ว  ยังเหลืองานยากที่สุดนั่นคือ ถังบรรจุน้ำ สำหรับเติมรถจักรไอน้ำ  เป็นสิ่งปลูกสร้างชิ้นสุดท้ายที่ต้องใช้ความชำนาญในการเก็บแบบ-ก่อนรื้อถอน  บ้านพักรถไฟอายุ 80 ปี หลังนี้ แบบบ้านเป็นแพทเทิร์นเดียวกันกับอีกหลัง ซึ่งตั้งอยู่ข้างกัน   ตามแบบฉบับของการสร้างบ้านพักราชการในอดีต ซึ่งทีมศึกษาได้เก็บแบบเรียบร้อยแล้ว

อาคารพาณิชย์ซึ่งทำมาจากไม้ทั้งหลัง ตั้งตระหง่านกลางสี่แยก ถนนหลังเมือง และบ้านเก่าสีเหลืองอ่อน  มีชื่อว่า "โรงสีหงษ์แสงไทย" ข้าง บขส.เก่า กลางเมืองขอนแก่น เป็นสิ่งปลูกสร้าง 2 แห่ง  ที่ทีมสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นอยากจะเข้าไปเก็บแบบ-รังวัดให้  เมื่อคนรุ่นหลังได้เห็น  พวกเขาจะได้รู้ว่า  กว่าจะมาเป็นขอนแก่นเมืองอนาคตใหม่ของประเทศ  ทั้งหมดมาจากความรุ่งเรืองในอดีตที่คนรุ่นก่อนสร้างมา  จนกลายเป็นปัจจุบันของพวกเขา

 

ขอขอบคุณ VoiceTV21







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS