มข.ตัดช่อดอกกัญชาส่งต่องานวิจัยทางการแพทย์ (มีคลิป)   


4 พฤศจิกายน 63 22:54:35

มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดตัดช่อดอกกัญชาปฐมฤกษ์หลังทำโครงการวิจัยกัญชาทดลองปลูกชุดแรก 35 ต้น เรียบร้อยแล้ว เตรียมส่งต่อคณะแพทย์-เภสัชศาสตร์ ผลิตยาเฉพาะโรคเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ที่ครบวงจร

    เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 4 พ.ย.2563 ที่ หมวดพืชผัก คณะเกษตรศาสตร์ มหาาวิทยาลัยขอนแก่นหรือ มข. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมด้วย นายวรทัศน์ ธุรีจันทร์ รอง ผวจ.ขอนแก่น และศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข.ร่วม เก็บผลผลิตและตัดช่อดอกกัญชา ที่ มข.ได้ทำการทดลองปลูกที่แปลงกัญชาระบบปิด ที่ขณะนี้สามารถนำไปทำการทดสอบทางการแพทย์ได้แล้ว

    ศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา มข. กล่าวว่า ดอกกัญชาที่ครบกำหนดตัดในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยการประเมินสายพันธ์กัญชา เพื่อการแพทย์และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับอนุญาตในการผลิตและปลูกในชุดแรก ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่แรกที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาเพื่อการศึกษาวิจัย จำนวนพื้นที่ในการปลูก 20 ตารางเมตร โดยได้ปลูกมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 2563 ที่ผ่านมาและครบกำหนดตัดช่อดอกในวันนี้ ซึ่งคณะทำงานจะทำการเก็บไปเพื่อประเมินสานพันธุ์และพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะสมในการนำไปใช้ทางการแพทย์ต่อไป


 
    “ชุดนี้เป็นชุดแรก มีทั้งหมด 35 ต้น ในพื้นที่ 10 ตารางเมตร ในหนึ่งปีจะปลูกได้ทั้งหมด 3 ชุด ประมาณ 100 ต้น ล่าสุดได้รับอนุญาตในการปลูกชุดที่ 2 แล้ว จะเป็นการปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ในพื้นที่ 2 ไร่ ซึ่งการดำเนินการปลูกที่ผ่านมา มข. ได้คะแนนการปลูก 100 เต็ม 100 เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยโรงเรือนที่จะมีการขยายการปลูก แต่ละชุดจะสามารถปลูกได้ประมาณ 500-700 ต้น 1ปี ปลูกได้ 3 ชุด รวมแล้วประมาณเกือบ 2,000 ต้น ซึ่งถือว่าเป็นการผลิตช่อดอกกัญชาที่สมบูรณ์ที่สุดที่ผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและรองรับคนที่จะมาใช้ประโยชน์ได้"

    ศ.ดร.มนต์ชัย กล่าวต่ออีกว่า ช่อดอกกัญชาที่ตัดได้ในคราวนี้ จะส่งต่อไปที่ส่วนที่เรียกว่ามีการสกัดสารซึ่งได้รับการอนุญาตจาก อย.ให้เป็นพื้นที่ในการสกัดสาร โดยสารสำคัญที่เราต้องการมี 2 ชนิดคือ สาร CBD ที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และ สาร TSC (สารเมา) ซึ่งมีประโยชน์ทางการแพทย์ทั้งคู่ เนื่องจากสายพันธุ์ที่ได้มีการตัดในครั้งนี้ จะมีทั้งหมด 3 สายพันธุ์ จะมีการเปรียบเทียบว่า เมื่อปลูกอยู่ในระบบปิด ด้วยการควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมแสงจะได้ปริมาณสารเป็นอย่างไร จากนั้นเมื่อสกัดสารได้แล้ว จะส่งต่อไปที่ เภสัชศาสตร์เพื่อพัฒนารูปแบบการทำเป็นยารักษา เพราะปัจจุบันจะเป็นการนำมาใช้ในรูปแบบของแพทย์แผนไทยในลักษณะการหยดไต้ลิ้นอย่างเดียว ซึ่งทำให้ไม่เป็นที่แน่ชัดในเรื่องปริมาณของสารสำคัญ คณะเภสัชศาสตร์ก็จะมีการพัฒนาว่าจะเป็นระบบหยุดไต้ลิ้นก็ต้องรู้ว่าหากเป็นระบบหยดไต้ลิ้นก็ต้องรู้ว่า มีสารเมาเท่าไหร่ ด้วยสัดส่วน1ต่อ1 หรือ 2 ต่อ1 เพื่อให้ทางการแพทย์ใช้ต่อไป


 
    "ขณะเดียวกัน มข. ยังได้รับอนุญาตจากทาง อย.ให้พัฒนาผลิตภัณฑ์ อาทิ เม็ดอม, แผ่นแปะ, หรือยาเหน็บทวารสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเมื่อพัฒนารูปแบบดังกล่าวได้แล้ว จะส่งต่อไปยังคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่สนใจศึกษาวิจัยด้านโรคต่างๆที่ใช้ยาจากกัญชาเป็นองค์ประกอบของสารสำคัญแบบต่างๆ ซึ่งเบื้องต้นมีแพทย์ให้ความสนใจในเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก ที่จะเอายาจากกัญชาไปใช้ในกลุ่ม โรคพากินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรคมะเร็งรังไข่, โรคสะเก็ดเงิน ซึ่งอยู่ในระหว่างของการดำเนินการเรื่องจริยธรรมวิจัยในมนุษย์ ก่อนจะศึกษาอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านงานวิจัยเพื่อทางด้านการแพทย์อย่างแท้จริง 

    อย่างไรก็ตาม มข.โดย สถาบันแคนนาบิส ครบศาสตร์ ได้ดำเนินการครอบคลุมและครบถ้วนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ก่อนที่จะมีการนำไปใช้จริง และมีโรงพยาบาลศรีนครินทร์ รองรับ เมื่อหมอได้ดูแลผู้ป่วยที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว จะทำให้มั่นใจในการใช้ ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะไม่ต้องพึ่งยาจากต่างประเทศอย่างเดียว เพราะเรามีสมุนไพรไทย ที่สามารถผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้รักษาโรคที่สำคัญ ๆ ของประเทศไทยได้อย่างครบวงจร"







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS