5 ข้อต้องรู้ เที่ยวงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2563   


17 ตุลาคม 63 12:03:51

1.  การจัดงานครั้งนี้ดำเนินงานภายใต้มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) New Normal
จัดขึ้นในระหว่าง วันที่  29  พฤศจิกายน  - 10  ธันวาคม  2563  (รวม  12  วัน  12  คืน) ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
 
2. วัตถุประสงค์ของการจัดงาน
2.1 เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน อันได้แก่ ประเพณีผูกเสี่ยว การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  ให้คงอยู่และเผยแพร่ไปยังคนรุ่นต่อไป
2.2 เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น  ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้มากยิ่งขึ้น  
2.3 เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่นให้เป็นเมืองศูนย์กลางแห่งผ้าไหม ไปสู่สากล โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอก
2.4 เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้เกิดการแข่งขันสร้างตลาดใหม่และเสริมรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตสินค้า เพิ่มพูนรายได้แก่ราษฎร
2.5 เพื่อแสดงนิทรรศการ  รวมทั้งการสาธิตและการออกร้านเพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกด้าน  ให้แก่ผู้เที่ยวชมงานได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ
2.6 เพื่อจัดงานรื่นเริงให้พี่น้องประชาชนได้มาเที่ยวชมงาน  เที่ยวชมมหรสพและเป็นการพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนหลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร  ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาเป็นเวลานาน
2.7 เพื่อเป็นการจัดหารายได้ไว้ใช้จ่ายในกิจการสาธารณะประโยชน์ของจังหวัดขอนแก่นและการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยพิบัติ  ผู้ยากไร้  ผู้ด้อยโอกาส  ของเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น
 
3.  เป้าหมาย
3.1  สืบสานประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของชาวขอนแก่นให้ ดำรงคงอยู่  
3.2  นักท่องเที่ยวทั้งภายในจังหวัดขอนแก่น และจากภายนอกจังหวัด เข้าเที่ยวชมงาน  ทั้ง 12 วัน  12  คืน  จำนวนไม่น้อยกว่า  500,000  คน
3.3 เพื่อให้ผ้าไหมขอนแก่นเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีการพัฒนาคุณภาพสู่สากล
3.4  พัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP  ของขอนแก่นไปสู่ระดับ 5 ดาว มีการสร้างการแข่งขันและสร้างตลาดใหม่ได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
3.5  ศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีอันดีงามของชาวขอนแก่น  เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
3.6  นักท่องเที่ยวผู้เข้าชมงานได้ศึกษาเรียนรู้ และได้รับความรู้ทางวิชาการ  และนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่  
3.7  ประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น และนักท่องเที่ยว  มีความสุขและมีความพึงพอใจในงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น
 

 
4. กิจกรรมและและรูปแบบของการจัดงานที่สำคัญ
4.1 กิจกรรมขบวนแห่และพิธีเปิดงาน
มุ่งเน้นกิจกรรมวันเปิดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ในวันที่  29  พฤศจิกายน 2563  โดยรถแห่มีความงดงาม ตระการตา ประดับตกแต่งเน้นการแสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัดขอนแก่น  ที่แสดงออกถึงศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีอันดีงามของประชาชนชาวจังหวัดขอนแก่น และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของขอนแก่น  โดยจะมีจุดโชว์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ชมในบริเวณการจัดงาน
 
4.2  กิจกรรมประเพณีผูกเสี่ยวและการจัดคุ้มศิลปวัฒนธรรม
1) กิจกรรมประเพณีผูกเสี่ยว
มุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์ที่สำคัญของชาวขอนแก่น  ซึ่งจัดให้มีแห่งเดียวในประเทศไทย   คือ  “ประเพณีผูกเสี่ยว”  โดยการจัดพิธีในวันเปิดงานเช่นเดียวกัน มีการเชิญชวนให้ผู้มีเกียรติ และประชาชนที่มีอุปนิสัย  บุคลิก  ทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน และเป็นเพศเดียวกัน  เข้าประกอบพิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน  ทำให้บุคคลที่ร่วมพิธีผูกเสี่ยว  เกิดความสมานฉันท์  มีความสัมพันธ์ทางจิตใจของคู่เสี่ยวที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกันตลอดไป โดยกำหนดให้มีพิธีผูกเสี่ยวทุกคืน ตลอดการจัดงาน
2) การจัดคุ้มศิลปวัฒนธรรม
ภายในบริเวณศาลาผูกเสี่ยว  ที่ใช้ประกอบพิธีผูกเสี่ยว  กำหนดให้มีการจัดคุ้มศิลปวัฒนธรรม  เช่น  การประกวดพานบายศรี  การประกวดสรภัญญะ  การประกวดเป่าแคน  และการแสดงพื้นบ้านต่างๆ  เป็นประจำ ทุกวัน ตลอดการจัดงาน
 
4.3  การจัดนิทรรศการ และการออกร้านของอำเภอ  ส่วนราชการและหน่วยงานต่างๆ
กำหนดให้ส่วนราชการ  หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งอำเภอ นำเสนอผลงานและกิจกรรมที่โดดเด่น ในรูปแบบของนิทรรศการเผยแพร่ความรู้  การสาธิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานทางด้านวิชาการ นวัตกรรมที่เกี่ยวกับไหม  หรือกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน  รวมทั้งการนำสินค้ามาออกร้าน  และจัดจำหน่ายภายในบริเวณงาน  ซึ่งมีการออกร้านภายในงานเป็นจำนวนมาก
 
4.4  การจัดแสดงนิทรรศการผ้าไหม 
จัดแสดงนิทรรศการไหมครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ  คือพันธุ์หม่อนไหม  กลางน้ำ คือ การมัดหมี่ การแต้มหมี่  การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไหม  และปลายน้ำ คือ การตลาด ออฟไลน์ ออนไลน์  มีการสาธิตการทอผ้าไหม  การแสดงนวัตกรรมเรื่องไหม อาทิ ไหมอีรี่  ไหมนาโน  ชมผ้าไหมมัดหมี่ แบบ  3  ตระกอ แบบ  2  ตระกอ ไหมมัดหมี่ข้อไหมมัดหมี่ลายสร้างสรรค์ซึ่งเป็นการพัฒนาฝีมือช่างทอผ้าไหม ปราชญ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไหม  และมีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทุกประเภท จัดแสดงและจำหน่ายภายในบริเวณงาน ภายใต้มาตรการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ( COVID-19 )
 
4.5  การจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP
จัดให้กลุ่มอาชีพต่าง ๆ  ทั้งในภาคราชการ  และเอกชน  นำผลิตภัณฑ์สินค้า  หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ออกร้านแสดงและจำหน่ายภายในงาน  โดยการจัดพื้นที่แยกให้เป็นการเฉพาะสำหรับสินค้า   OTOP  ของจังหวัดขอนแก่น
 
4.6  การจัดกิจกรรมเวทีกลาง
ภายในบริเวณงานจัดให้มีเวทีกลาง  ซึ่งได้มีการจัดตกแต่งสถานที่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ในการจัดกิจกรรมทางด้านการแสดงศิลปวัฒนธรรม  ประเพณีท้องถิ่น  โดยมีการแสดงต่าง ๆ เป็นประจำทุกคืน  เช่น การแสดงศิลปะพื้นบ้าน จากสถานศึกษาและชุมชน  การเดินแฟชั่นโชว์ผ้าไหม-ผ้าพื้นเมือง การแสดงของศิลปินอีสานชาวขอนแก่น  การออกรางวัลสลากกาชาด
 
4.7  การจำหน่ายสลากกาชาด ของสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น
โดยในปี 2563  มีการจำหน่ายสลากกาชาดสมนาคุณ  ภายในบริเวณงาน  เพื่อร่วมซื้อ/ร่วมทำบุญ และผู้ร่วมกิจกรรมจะได้ลุ้นโชคจากรางวัลที่มีมูลค่าสูงมากมาย  และจะดำเนินการออกรางวัลสลากกาชาด ในคืนวันสุดท้าย คือ วันที่ 10 ธันวาคม 2563 ณ เวทีกลางงานเทศกาลไหมนานาชาติฯ
 
4.8  การเดินแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหม
ตามที่สภาหัตถกรรมโลก - World  Craft  Council ( WCC) - UNESCO  ได้ประกาศรับรองให้จังหวัดขอนแก่น เป็น “เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่” แห่งแรกในเอเชีย เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังชุมชน  ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องผ้า ที่พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ตลาดนานาชาติแบบครบวงจร  ซึ่งเป็นการส่งเสริมการใช้ผ้าไทย  และส่งเสริมการขาย
 
4.9  กิจกรรมอื่นๆ
(1) การประชาสัมพันธ์โครงการ งานเทศกาลไหมนานาชาติประเพณีผูกเสี่ยวและงานกาชาด จังหวัดขอนแก่น ประจำปี 2563  
(2) เที่ยวชมมหรสพภายในบริเวณงาน  
(3) การเลือกชมและซื้อสินค้าราคาถูกจากภาคเอกชนที่มาร่วมออกร้านจำหน่าย ภายในงาน จำนวนมากกว่า 900 ร้าน  เช่น  สินค้า  อุปกรณ์เครื่องใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน
 
5. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
5.1  สามารถสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมอันดีงามของจังหวัดขอนแก่น และของภาคอีสาน  อันได้แก่  ประเพณีผูกเสี่ยว  การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน  ให้คงอยู่และเผยแพร่ไปยังคนรุ่นหลังให้ช่วยกันอนุรักษ์สืบต่อไป
5.2  สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น  ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้รู้จักแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นให้มากยิ่งขึ้นและเข้ามาเที่ยวจังหวัดขอนแก่นเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมและมีประชาชนมาเที่ยวชมงานไม่น้อยกว่า 500,000 คน
5.3  สามารถส่งเสริมและพัฒนาผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมของจังหวัดขอนแก่น ไปสู่สากล  โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ  เพื่อให้จังหวัดขอนแก่นเป็นเมืองแห่งผ้าไหมชั้นดีเยี่ยมของประเทศไทยและพัฒนาสู่สากล
5.4  สนับสนุนนโยบายของรัฐในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ให้เกิดการแข่งขัน  สร้างตลาดใหม่และเสริมรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ผลิตสินค้า  ในรูปแบบของการจัดนิทรรศการและการจัดจำหน่ายสินค้า OTOP อันเป็นการส่งเสริมอาชีพและเพิ่มพูนรายได้แก่ราษฎร
5.5  มีการจัดแสดงนิทรรศการ  รวมทั้งการสาธิตและการออกร้านเพื่อเผยแพร่ความรู้วิทยาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกด้าน  ให้แก่ผู้เที่ยวชมงานรวมทั้งเด็กและเยาวชน ได้เกิดความรู้เพิ่มพูนประสบการณ์
5.6  พี่น้องประชาชนได้มาเที่ยวชมงาน  เที่ยวชมมหรสพและเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ  หลังฤดูเก็บเกี่ยวพืชผลทางการเกษตร  ที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมาเป็นเวลานาน
5.7  จังหวัดมีรายได้เอาไว้ใช้จ่ายในกิจการสาธารณประโยชน์  และการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ผู้ประสบภัยพิบัติ  ผู้ยากไร้  และผู้ด้อยโอกาส  ของเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น
 
     ทั้งนี้ ที่มา หลักการและเหตุผล ในการจัดงานเทศกาลไหมนานาชาติ ประเพณีผูกเสี่ยว และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น ประจำปี  2563 สืบเนื่องมาจาก จังหวัดขอนแก่น  เป็นจังหวัดศูนย์กลางของภาคอีสานตอนบน  เป็นเมืองที่มีศักยภาพในหลายๆ ด้านโดยเห็นได้จากปัจจัยด้านการลงทุนของโครงการต่างๆ จากภาครัฐ  ที่มีแผนการพัฒนาเมือง  ในโครงสร้างพื้นฐาน ด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบกและทางอากาศ เช่น ขอนแก่นซิตี้บัส รถไฟทางคู่ เส้นทางช่วงชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) สายเหนือใต้ สำราญ-ท่าพระ  ซึ่งจะเป็นรถไฟฟ้ารางเบา  สายแรกของประเทศ 
 
     และในปัจจุบันได้มีการสร้างขยายสนามบินขอนแก่น  เพื่อยกระดับให้เป็นสนามบินนานาชาติ การพัฒนาระบบการศึกษา โดยมีเป้าหมายให้เป็นเมืองศูนย์กลางของบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาล นอกจากนั้น จังหวัดขอนแก่นยังได้ชื่อว่าเป็นมหานครแห่งการท่องเที่ยว  ที่มีความหลากหลาย  ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงมีโรงแรม ศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ ร้านอาหาร เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้จังหวัดขอนแก่น มุ่งสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ได้ในอนาคตอันใกล้ เป็นการขยายตัวของเมืองๆ หนึ่งที่ถูกขับเคลื่อนโดยรัฐบาล ซึ่งเมื่อเมืองเติบโต ย่อมมีศักยภาพด้านการลงทุนมากขึ้นด้วยเช่นกัน  จังหวัดขอนแก่น จึงอาจกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มนักธุรกิจ ที่มีการจัดประชุม สัมมนา ที่เป็น  1 ใน 5 เมืองหลัก ของการเป็น  MICE City
 
     ในด้านงานหัตถกรรม จังหวัดขอนแก่น ยังมีความโดดเด่นในเรื่อง “ผ้าไหม” มาเป็นเวลาช้านาน ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2561 สภาหัตถกรรมโลก - World  Craft  Council ( WCC) - UNESCO  ได้ประกาศรับรองให้จังหวัดขอนแก่น เป็น “เมืองหัตถกรรมโลก แห่งผ้ามัดหมี่” แห่งแรกในเอเชีย เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังชุมชน  ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ที่สามารถตอบโจทย์ทุกความต้องการเรื่องผ้า ที่พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ตลาดนานาชาติ แบบครบวงจร  จังหวัดได้กำหนดให้การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ กระตุ้นการลงทุน ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากไหม  ซึ่งเป็นเอกลักษณ์คู่กับจังหวัดขอนแก่นมายาวนานจนสร้างชื่อเสียงไปทั่วโลกอันเป็นแนวทางในการ   เสริมสร้างความมั่นคง  มั่งคั่งทางเศรษฐกิจ  จังหวัดขอนแก่น จึงได้กำหนด การจัดงาน “เทศกาลไหมนานาชาติ  ประเพณีผูกเสี่ยว  และงานกาชาดจังหวัดขอนแก่น” ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2522  โดยผนวกรวม “ประเพณีผูกเสี่ยว” เอกลักษณ์ของชาวขอนแก่น  ไว้ในงานเดียวกัน
 
     การจัดงาน ในครั้งนี้ นับรวม เป็นครั้งที่ 42  โดยจะเป็นการประชาสัมพันธ์ แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วิถีการดำรงชีวิตที่เรียบง่าย  มีความสมานฉันท์ควบคู่กันไปกับการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามรูปแบบต่าง ๆ ของชาวอีสาน  และการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)  อันเป็นจุดเด่น ที่สำคัญของจังหวัดขอนแก่น 
 
     กิจกรรมภายในงาน ประกอบไปด้วยความหลากหลายและยิ่งใหญ่งดงาม อาทิ การจัดขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรมของชาวขอนแก่น  การแสดงกลางแจ้งประกอบแสง  สี  เสียง  และสื่อผสม  การจัดพิธีผูกเสี่ยว การจัดกิจกรรมคุ้มวัฒนธรรม การรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองขอนแก่น   การเดินแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหม การจัดประกวดและจำหน่าย ผลิตภัณฑ์จากไหมทั้งภายใน และจากประเทศอนุภาคลุ่มน้ำโขง  การแสดงนวัตกรรมในเรื่องของไหม  การแสดงนิทรรศการและสินค้า  OTOP  ของดีเมืองขอนแก่น การแสดงนิทรรศการ และการแสดงศิลปวัฒนธรรม  เพื่อให้เกิดรายได้จากการจัดงานเพื่อนำไปดำเนินการสาธารณประโยชน์  และสงเคราะห์ผู้ด้อยโอกาสด้วย  โดยใช้สถานที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น   และบริเวณโดยรอบเป็นสถานที่จัดงาน 
 
    ติดตามข่าวสารได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ https://web.facebook.com/KhonkaenSilkFestival
 
 
####
 
 
 
 






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS