เจ๋ง! มข.เปิดสถานีผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด ใช้ขับเคลื่อนรถขนส่งมวลชน ทดแทนการใช้ก๊าชธรรมชาติ   


26 มกราคม 59 21:26:33


ครั้งแรกของประเทศไทย มข.ผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG)จากมูลสัตว์และหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้เติมน้ำมันรถขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยทั้ง 20 คัน

         เมื่อวันจันทร์ที่ 25 มกราคม 2559 เวลา 13.30 น. คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดพิธีเปิด “สถานีผลิตพลังงานทดแทนก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG)จากมูลสัตว์และหญ้าเนเปียร์” เพื่อใช้ในการขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันได้ผลิตใช้งานแล้ว  โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานเปิดงาน  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา  คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ เป็นผู้กล่าวรายงานการจัดงาน  ทั้งนี้มีนักวิจัย และผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 50 คน  ณ หมวดงานไร่ฝ่ายสัตว์ ภาควิชาสัตวศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

        รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทน 10 ปี (พ.ศ. 2555-2564) ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายที่จะหาเชื้อเพลิงใหม่มาทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลลงให้ได้25 ล้านลิตรภายในปี 2564 กำลังเป็นโจทย์ใหญ่และความท้าทายของกระทรวงพลังงาน ฉะนั้นการสร้างสถานีผลิตพลังงานทดแทนก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ Compressed Biomethane Gas  (CBG)จากมูลสัตว์และหญ้าเนเปียร์ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งในการทดแทนการใช้พลังงานเพื่อดำเนินงานไปสู่เป้าหมายของรัฐให้สำเร็จ  โดยก๊าซ CBG จะถูกนำมาใช้ในบริการขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวนกว่า 20 คัน  เมื่อมีการผลิตพลังงานทดแทนจะสามารถลดค่าใช้จ่ายพลังงานที่สูงถึง 9 ล้านบาทต่อปี ประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้อย่างมาก  ทั้งยังเป็นไปตามการใช้พลังงานทดแทนตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นต้นแบบของการใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
 
รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น
 
         “มหาวิทยาลัยขอนแก่นถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่มีการใช้พลังงานทดแทนก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) เพื่อใช้ในระบบขนส่งมวลชนภายในองค์กร ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่สูงมาก แต่นับว่าคุ้มค่ามากเช่นกัน เพราะเราไม่นับเพียงความคุ้มค่าเพียงวันนี้ ปีนี้ แต่เรานับผลคุ้มค่าในระยะยาว ปลูกฝังให้รุ่นลูกหลาน รู้จักการใช้พลังงานทดแทนอย่างประหยัด และเชื่อว่าสถานีผลิตพลังงานทดแทนก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG)จากมูลสัตว์และหญ้าเนเปียร์นี้ จะช่วยลดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม  เป็นแบบอย่างในการผลิตพลังงานทดแทนต่อองค์กรอื่นๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน  ตลอดจนเป็นต้นแบบการใช้พลังงานที่เหมาะสมกับโลกอนาคตอย่างยั่งยืน” รศ.ดร.กิตติชัย กล่าว
 
           รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา  คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การสร้างสถานีผลิตพลังงานทดแทนก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG)จากมูลสัตว์และหญ้าเนเปียร์ เพื่อใช้ในการขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจัดการของเสียจากฟาร์มสาธิตการเลี้ยงสุกร การเลี้ยงไก่ไข่ และการเลี้ยงโคนมของคณะเกษตรศาสตร์ โดยเปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทนที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปริมาณของวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบการผลิตพลังงานทดแทนก๊าซ CBG เพื่อใช้เองในหน่วยงานด้านการขนส่งมวลชน บริการแก่ นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนที่มาใช้บริการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนเป็นต้นแบบการเป็นศูนย์เรียนรู้ เผยแพร่องค์ความรู้ด้านวิชาการในการจัดการของเสียและน้ำเสียจากฟาร์ม ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชุมชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นแบบอย่างองค์กรที่ดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม

    ที่มาของการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด (CBG) สืบเนื่องมาจากข้อมูลการเลี้ยงสัตว์ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่นปี 2557  ที่ใช้พื้นที่กว่า 700 ไร่ ในการเลี้ยงสัตว์หลายชนิดเพื่อการศึกษาและวิจัย ทั้งรูปแบบของฟาร์มเลี้ยงในระบบเปิด  ระบบปิด และการเลี้ยงแบบไร่ทุ่ง มากกว่า 100,000 ตัว ในการจัดการดูแลคณะเกษตรศาสตร์ได้วางรูปแบบระบบการจัดการของเสียจากการเลี้ยงอย่างถูกสุขลักษณะ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแพร่พันธุ์ของเชื้อโรค ปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนรอบข้าง ปัญหาการปนเปื้อนแหล่งน้ำใต้ดิน รวมถึงปัญหาการเกิดมลภาวะอื่นๆที่อาจส่งผลต่อภาวะโลกร้อน
 
         แต่ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับข้อร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนรอบข้างมาตลอดปัญหาดังกล่าวคณะเกษตรศาสตร์จึงทำการเลือกระบบผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อจัดการปัญหากลิ่นเหม็นรบกวนชุมชนรอบข้าง และสามารถผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ ตลอดจนสามารถนำก๊าซชีวภาพไปใช้เป็นพลังงานได้อีกด้วย นอกจากนี้คณะเกษตรศาสตร์ ได้มีปลูกหญ้าเนเปียร์ เพื่อเป็นอาหารสัตว์และเพื่อการศึกษาวิจัยการผลิตก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์  นำมาศึกษาวิจัยการหมักร่วม(Co-Digester) ระหว่างหญ้าเนเปียร์กับมูลสัตว์ ซึ่งเป็นเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตก๊าซไบโอมีเทนอัด หรือ Compressed Biomethane Gas  (CBG) เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนในภาคขนส่งมวลชนภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น หรือ KKU Smart Transit (KST)

ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0011533&l=th







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS