บอร์ดการรถไฟเห็นชอบเส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง งบ2หมื่นล้านบาท   


22 พฤษภาคม 61 01:23:50

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม (คค.) ในฐานะรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. เห็นชอบโครงการเพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการเดินรถขนส่งสินค้าเส้นทางขอนแก่น-แหลมฉบัง งบประมาณ 2 หมื่นล้านบาทจะเปิดให้เอกชนเข้า ร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (พีพีพี) โดย รฟท. จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและงานก่อสร้าง ขณะที่เอกชนลงทุนจัดหารถไฟ งานระบบรวมถึงงานซ่อมบำรุง ซึ่งระบบการเดินรถจะเป็นแบบรถไฟฟ้า จะเร่งเสนอกระทรวงคมนาคมและ คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ (บอร์ดพีพีพี) ควบคู่กับการร่างเอกสารเงื่อนไขการประกวดราคา (ทีโออาร์) คาดว่าจะเปิดประมูลได้ปลายปีนี้

โดยโครงการเดินรถขนส่งสินค้าขอนแก่น - แหลมฉบัง จะเปิดให้เอกชนเข้ามาพัฒนาระบบรถไฟฟ้า ระยะทางราว 320 กิโลเมตร (กม.) มูลค่าโครงการประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และเนื่องด้วยโครงการนี้ถูกจัดอยู่ในโครงการฟาสแทร็ก รฟท.จึงจะเร่งดำเนินการตามขั้นตอนและเปิดประมูลโดยเร็ว   แหล่งข่าวจากคณะกรรมการ รฟท. กล่าวว่า เบื้องต้นคณะกรรมการ รฟท. เห็นชอบให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะลงทุนในส่วนของการจัดสรรที่ดินแนวเส้นทางเพื่อก่อสร้างอู่จอดและซ่อมบำรุง พร้อมทั้งลงทุนระบบบริหารจัดการทาง ขณะที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนในส่วนของงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล งานอู่จอดและซ่อมบำรุง งานก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก และการจัดหาตัวรถจักรไฟฟ้า และรถสินค้า  สำหรับงบประมาณการลงทุนอ้างอิง ตามผลการศึกษา พบว่ามีมูลค่ารวม 19,193.71 ล้านบาท แบ่งออกเป็น งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 17,250.71 ล้านบาท งานก่อสร้างอู่จอดและซ่อมบำรุง 1,200 ล้านบาท งานจัดซื้อขบวนรถ 735 ล้านบาท และงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม 8 ล้านบาท มีอายุสัมปทานอยู่ที่ 30 ปี พร้อมเงื่อนไขในการต่ออายุสัมปทานได้อีก 30 ปี
         

โดย รฟท. จะได้รับผลตอบแทนสุทธิตลอดอายุสัญญาคิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้พบว่ามีเอกชนที่แสดงความสนใจร่วมลงทุนโครงการคือ บีทีเอส และในขณะนี้ก็พบว่าทางกลุ่มทีพีไอ โพลีน ก็สนใจร่วมลงทุนเช่นกัน         

ซึ่งโครงการดังกล่าวจะเป็นกลไกส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเฉพาะการเชื่อม โยงเส้นทางขนส่งสินค้าจากภาคอีสานและประเทศเพื่อนบ้านตามเส้นทางเศรษฐกิจมาเชื่อมต่อการขนส่งทางน้ำที่ท่าเรือขนาดใหญ่ในเขตอีอีซี







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS