ปลื้ม คนขอนแก่น คนไทยคนแรก สู่เวทีกรรมการสมาคมสารสนเทศฯ ที่ใหญ่ที่สุดของโลก   


4 มีนาคม 61 06:39:40


คณะมนุษย์ฯ ม.ขอนแก่น ได้เฮ...คณบดีได้รับเกียรติเป็นกรรมการของสมาคมสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถ ความพร้อมในการทำงานด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คนแรกของประเทศไทย

         สมาคมสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยี (Association for Information Science and Technology  ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับนักสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก  ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1937 เป็นสมาคมที่มีอายุมากกว่า 80 ปี มีสมาชิกทั้งแบบบุคคล และสถาบัน  มีจำนวนหลายพันคนจาก 50 ประเทศทั่วโลก  มีบทบาทในการพัฒนาวิชาชีพทางด้านสารสนเทศและเทคโนโลยี  ได้คัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ และมีความพร้อมในการทำงานผ่านกระบวนการการเสนอชื่อ  และได้คัดเลือก รศ.ดร.กุลธิดา   ท้วมสุข  คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ เข้าเป็นคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  เป็นคนแรกของประเทศไทย

          รศ.ดร.กุลธิดา   ท้วมสุข  กล่าวถึงความเป็นมาว่า  “สมาคมสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยี (Association for Information Science and Technology  เป็นสมาคมวิชาชีพสำหรับนักสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1937 ก่อตั้งมากว่า 80 ปี มีสมาชิกทั้งแบบบุคคล และสถาบัน  มีจำนวนหลายพันคนจาก 50 ประเทศทั่วโลก  มีบทบาทในการพัฒนาวิชาชีพทางด้านสารสนเทศและเทคโนโลยี  อาทิเช่น  สร้างกรอบมาตรฐานวิชาชีพ  มีวิชาที่เปิดสอนออนไลน์ที่คนในวิชาชีพสามารถจะเข้าไปเรียนรู้เป็น webminar หรือ seminar มีการจัดประชุมระดับโลกปีละครั้ง  และมีการจัดประชุมย่อยๆ ในด้านต่างๆ ปีละหลายครั้ง    ซึ่งในโครงสร้างของสมาคมจะมีคณะกรรมการประจำ หรือ Standing Comittee ทำหน้าที่ในการพัฒนาด้านต่างๆทั้งหมด 10 ชุด  ตัวอย่างเช่น คณะกรรมการด้านพัฒนามาตรฐาน คณะกรรมการพัฒนาด้านการศึกษาอบรม  คณะกรรมการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ   ซึ่งจัดตั้งโดยคณะกรรมการใหญ่ของสมาคม  โดยจะคัดเลือกผู้จะมาเป็นกรรมการจากบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับระหว่างประเทศ  ในปีนี้มีชื่อผู้ที่ได้รับการเสนอในทั้งหมด 8 คน ซึ่งรู้สึกว่าได้รับเกียรติอย่างสูง  ที่เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าไป  และกรรมการผู้คัดเลือกมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 2 คน ประเทศจีน ประเทศสกอตแลนด์ ประเทศเยอรมัน  ประเทศโครเอเชีย ประเทศสิงคโปร์ และประเทศไทย”

          รศ.ดร.กุลธิดา   กล่าวต่อไปว่า  “คณะกรรมการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  มีภาระหน้าที่ในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือของคนในวิชาชีพ หรือองค์กรในวิชาชีพระหว่างประเทศ   ยกตัวอย่างเช่น เราอยู่ในภูมิภาค South East Asia ทวีปเอเชีย และภูมิภาคอาเซียน ก็สามารถที่จะมีบทบาทในการที่จะส่งเสริมความร่วมมือของนักวิชาการสถาบันในวิชาชีพสารสนเทศในกลุ่มประเทศสมาชิก ใน South East Asia หรือในเอเชียก็ได้  โดยทำหน้าที่ในด้านการจัดหลักสูตร จัดการประชุมสัมมนา จัดอบรมให้คนในวิชาชีพได้มาพบปะกัน ได้รู้จากกันเป็นเครือข่ายกัน และอาจจะเชื่อมโยงไปยังในกรณีที่เราเปิดสอนหลักสูตรทางด้านสารสนเทศศาสตร์ ก็สามารถที่จะทำให้นักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาที่อยู่ในหลักสูตรเราสามารถจะแลกเปลี่ยนรู้จักกัน ได้ไปศึกษาเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้  ในด้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยี  สามารถสมัครในระดับสถาบันการศึกษา หรือสมัครเข้าร่วมในระดับคณะวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกับสารสนเทศ  โดยแบ่งประเภทสมาชิกออกเป็น 2 ประเภทคือประเภทสถาบันหรือหน่วยงานที่มีหลักสูตร  ซึ่งไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยในภาษาต่างประเทศเรียกว่า  School   คือโรงเรียนที่เปิดสอนหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์ อย่างที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็คือสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์  แต่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก  และอีกประเภทคือ ประเภทบุคคล  ซึ่งผู้ที่สามารถที่จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกได้คือผู้ที่อยู่ในสาขาอาชีพนี้มานานพอสมควร”

          ส่วนบทบาทหน้าที่ที่มีความเกี่ยวโยงกับคณะวิชา และมหาวิทยาลัยขอนแก่นนั้น  รศ.ดร.กุลธิดา  กล่าวว่า  “บทบาทหน้าที่ของกรรมการชุดนี้  จะมีแผนงานโดยการประชุมร่วมกันผ่านระบบ  โดยมีแผนแรกคือ  การจัดหลักสูตรทางด้านออนไลน์ที่จะมีประโยชน์สอดคล้องกับความต้องการของนักวิชาการในสาขาวิชานี้ทั่วโลก   แผนที่สอง คือบทบาทในการส่งเสริมให้โรงเรียนสารสนเทศศาสตร์หรือ I School หรือ Information School ทั่วโลกที่อยู่ในภูมิภาคเกิดความร่วมมือใน  โครงการในการแลกเปลี่ยน  เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำอย่างไรจะทำให้เกิดความร่วมมือ ในที่ประชุมจะมีการนำเสนอแผน  และตกลงเลือกสถานที่ในการจัดกิจกรรม  ซึ่งคณะกรรมการฯ จะทำหน้าที่ช่วยเหลือในการจัดประชุมวิชาการ โดยจะต้องดึงคนจากนานาชาติเข้ามาร่วมในการประชุม แม้จะไม่มีรายชื่อเป็นสมาชิก  ซึ่งสาขาวิชาสารสนเทศศาสตร์ของมหาลัยขอนแก่นเป็นหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรียกว่าเราเป็นมหาลัยแห่งแรกๆ ที่ที่เปิดสอนในระดับปริญญาเอก เรามีชื่ออยู่ในนั้นและเมื่อเข้าไปนั่งอยู่สมาคมฯ ก็จะสามารถดึงชื่อเสียงมหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้าไปและสามารถเป็นผู้นำได้”

          รศ.ดร.กุลธิดา  กล่าวถึงสถานการณ์ด้านหลักสูตรสารสนเทศว่า  “การจัดหลักสูตรในด้านสารสนเทศมีความเปลี่ยนแปลงมากในโลกปัจจุบัน  เป็นหลักสูตรที่ได้รับผลกระทบในเรื่องของการพัฒนาทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอย่างมาก และแนวโน้มในปัจจุบันเป็นการสอนให้คนสามารถทํางานสิ่งแวดล้อม (digital environment) ต้องไม่เป็นเป็นรูปแบบเดิมสารสนเทศในรูปแบบของสาระหรือเนื้อหาที่ปรากฎในรูปแบบดิจิตอล จะพัฒนาไปสู่ระดับของข้อมูลด้วย การสร้างคนที่เป็นนักสารสนเทศนั้น อาจจะไม่ต้องเก่งทางด้านเทคโนโลยี เท่ากับผู้เรียนด้านคอมพิวเตอร์ไซน์ วิศวะ หรือวิศวะคอมคอมพิวเตอร์ แต่คนเหล่านี้ต้องเข้าใจตัวข้อมูลการจัดระบบข้อมูล   ทำอย่างไรจะใช้เครื่องไม้เครื่องมือเข้าไปทำให้ข้อมูลออกมาได้ตรงตามความต้องการ ไปถึงขั้นวิเคราะห์ที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นความต้องการในระดับสากล  จากโอกาสที่ได้รับในครั้งนี้ หวังเป็นโอกาสที่องค์กรระดับโลกจะสามารถเข้ามาผลักดันจัดการศึกษา  และพัฒนานักวิชาชีพในสาขานี้ให้เป็นมาตรฐาน เนื่องจากขณะนี้กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนยังไม่มีความพร้อมในการจัดหลักสูตรสารสนเทศศาสตร์และเทคโนโลยี หากมีการยกระดับของประเทศในอาเซียน ก็จะทำให้บทบาทของประเทศไทยในอาเซียนดีขึ้น”

          การได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการคนแรกของประเทศเข้าไปทำงานในองค์กรระดับโลกนั้น  แม้จะเป็นวาระการทำงานปีต่อปีก็ตาม  ยังนับว่าเป็นเกียรติอย่างสูงของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีศิษย์เก่าเฉกเช่น รศ.ดร.กุลธิดา  ท้วมสุข  ได้ก้าวเข้าสู่การทำงานผลักดันการศึกษาด้านสารสนเทศและเทคโนโลยีระดับโลก  เป็นความหวังของนักสารสนเทศระดับภูมิภาคอาเซียนที่จะได้รับการพัฒนายกระดับ และสร้างคนสารสนเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล

ข่าว / ภาพ   :    วัชรา  น้อยชมภู

  ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0015348&l=th

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS