รายงานพิเศษ อ.น้ำพองประสบภัยแล้งซ้ำซาก ผู้ว่าฯหวั่น ปชช.ขาดน้ำกิน-น้ำใช้-น้ำเพื่อการเกษตร   


5 กุมภาพันธ์ 61 22:31:07

อ.น้ำพองประสบภัยแล้งซ้ำซาก ผู้ว่าฯขอนแก่นรุดตรวจอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวมีน้ำเหลือน้อย เมื่อถึงฤดูแล้วหวั่นประชาชนขาดแคลนน้ำกิน/น้ำใช้/ น้ำเพื่อการเกษตร
 
ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นต้นไป ในพื้นที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น จะเริ่มมีอากาศร้อนและแห้งแล้ง นอกจากนี้ในส่วนของข้อมูลปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำห้วยต่างๆ ไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ แต่ยังคงจัดสรรน้ำเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ได้
 
อย่างไรก็ตาม อ.น้ำพองก็ได้ประสบปัญหาความแห้งแล้งเป็นประจำทุกปี จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยแล้งซ้ำซาก รวมถึงการประสานของบประมาณจากจังหวัดและแหล่งงบประมาณต่างๆ เพื่อจะมาดำเนินการขุดลอกแหล่งน้ำต่างๆ ให้มีปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อประชาชนผู้ประสบภัยทั้งทางด้านการเกษตรและอุปโภค/บริโภค 

เมื่อวันที่ 3 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย พล.ต.กาจบดินทร์ ยิ่งดอน รอง ผอ.รมน.จว.ขอนแก่น นายอลงกต  วรกี ปลัดจังหวัดขอนแก่น นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง นายเดชา  สุรพล นายก อบต.วังชัย นายเรืองโชค ชัยดำรงค์กุล ผอ.โครงการชลประทานขอนแก่น ไปตรวจสภาพของน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ตั้งอยู่ที่บ้านเสียว หมู่ 9 ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น สืบเนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง อยู่ห่างจากโครงการชลประทานขอนแก่น 40 กม. พื้นที่รับน้ำฝน 374.00 ตร.กม. พื้นที่กักเก็บน้ำ 323.2  ไร่ ปริมาณที่กักเก็บได้ 528,160.00 ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งาน 206.160.00 ลบ.ม.  และ ใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำในช่วงที่มีน้ำมาก สำหรับเพื่อการเพาะปลูก และการอุปโภคบริโภคของประชาชนในเขต อ.น้ำพอง
 
ปัจจุบันระดับน้ำมีปริมาณ 217,000.00 ลบ.ม. คิดเป็น 41 % ของอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ที่มีพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2561 ข้าว 19 ไร่ ,อ้อย 61 ไร่ (พื้นที่โดยรอบไม่ได้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว) พร้อมด้วยประชากรที่ใช้น้ำอุปโภคบริโภคจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ประมาณ 1,100 หลังคาเรือน
 
นายสมศักดิ์ จังตระกุล  ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า  ขณะนี้ จ.ขอนแก่น ได้เริ่มต้นเข้าสู่ภัยแล้งคาดว่าประชากรในจังหวัดจะประสบภัยแล้งโดยขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และ น้ำเพื่อการเกษตรไม่น้อยกว่า 5 เดือน พร้อมกับชลประทานขอนแก่นได้รายงานสถานการณ์น้ำในทุกจุดของจังหวัดทราบเป็นรายวัน เมื่อมาดูสถิติของอ่างเก็บน้ำต่างๆที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 14 แห่ง ใน 12 อำเภอ มีน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางเหลือ 82 %  แต่น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว อ.น้ำพอง กลับมีน้ำเหลือในปัจจุบัน 41 % น้อยกว่าแหล่งน้ำอื่นๆ จำนวนมาก จึงต้องลงมาตรวจสอบว่าอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวมีปัญหาอะไรหรือไม่ เพื่อเตรียมการรองรับให้กับพี่น้องประชาชน
 
เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยประชาชนอย่างมากในปัญหาเรื่องน้ำขาดแคลน ไม่มีน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว อ.น้ำพอง ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกพืชผัก  เมื่อได้เข้าไปตรวจสอบในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวก็พบว่าน้ำเหลือน้อยลงกว่าทุกปี เพราะมีอัตราการระเหย และอัตราการซึมลงผิวดิน ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ
 
"จังหวัดขอนแก่นพร้อมด้วยโครงการชลประทานขอนแก่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาภัยแล้งใน จ.ขอนแก่น จึงต้องให้ความสนใจกับอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว เพื่อเตรียมการล่วงหน้าแก้ปัญหาไม่มีน้ำกินน้ำใช้ น้ำเพื่อการเกษตร เหมือนทุกปีที่ผ่านมา จึงต้องรีบหาทางแก้ปัญหาตั้งแต่เริ่มรู้ปัญหาว่าน้ำในอ่างเหลือน้อย เมื่อถึงภัยแล้งประชาชนจะต้องไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรเหมือนเช่นทุกปี โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวจะต้องมีการขุดลอกคลองมากขึ้น และขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลเป็นแหล่งที่สอง และแหล่งที่สาม เมื่อถึงภัยแล้งก็สามารถใช้น้ำบาดาลได้ทันทีโดยประชาชนไม่เกิดความรู้สึกว่าขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้" ผวจ.ขอนแก่น กล่าว
 
นายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง เปิดเผยว่า อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 246 ฟุต  มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 828,686 ตร.กม. หรือ 515,000 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยน้ำฝนและน้ำจากชลประทานหนองหวาย เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ของทุกปี จะมีอากาฯศร้อนและแห้งแล้ง นอกจากนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและลำห้วยต่างๆ โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวไม่สามารถสนับสนุนการใช้น้ำในภาคการเกษตรได้ แต่ยังคงจัดสรรน้ำเฉพาะการใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์ได้ ดังนั้น ทางจังหวัดขอนแก่นและ อ.น้ำพอง จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งประสานของบประมาณจากจังหวัดและแหล่งงบประมาณต่างๆ เพื่อมาดำเนินการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว พร้อมสำรวจหาน้ำบาดาลในหลายพื้นที่ใน อ.น้ำพอง เมื่อประสบภัยแล้งก็ให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อประชาชนผู้ประสบภัยทั้งทางด้านการเกษตรและอุปโภคบริโภค

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS