ตั้งกองร้อยน้ำหวาน ช่วยจราจรลดเจ็บตาย   


16 มกราคม 61 20:57:07

สสส.ร่วมมือ บช.ภ.4 ตั้ง "กองร้อยน้ำหวาน" ใน 6 จังหวัดนำร่องดูแลจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุเจ็บ/ตาย ใน 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน
 
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 16 ม.ค.  ณ ห้องประชุมมงกุฎเงิน โรงแรมโฆษะ อ.เมือง จ.ขอนแก่น พล.ต.ท.สุรชัย  ควรเดชะคุปต์ ผบช.ภ.4 ได้มาเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการลดอุบัติเหตุจราจรทางถนนแบบมีส่วนร่วม ตำรวจภูธรภาค 4  ซึ่งมีผู้ลงนาม น.พ.วีระพันธ์  สุพรรณไชยมาตย์ รอง ประธานคนที่ 2 คณะกรรมการ สสส. น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ประธานแผนงาน สอจร. น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม พล.ต.ต.ธนาศักดิ์ ฤทธิ์เดชไพบูลย์ รอง ผบช.ภ.4 พ.ต.อ.อานนท์ นามประเสริฐ รอง ผบก.ภ.จว.ร้อยเอ็ด ในการประกาศเจตนารมณ์และศึกษาแลกเปลี่ยนการดำเนินงานเพื่อลดอุบัติเหตุจราจรทางถนนของพื้นที่ในความดูแลของตำรวจภูธรภาค 4 
 

 
พล.ต.ต.ธนาศักดิ์ ฤทธิเดชไพบูลย์ รอง  ผบช.ภ.4 กล่าวว่า บช.ภ.4 ได้จัดทำพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)  อันเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตาม "โครงการลดอุบัติเหตุจราจรทางถนนแบบมีส่วนร่วม ตำรวจภูธรภาค 4" ระหว่างกองสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ กับ ตำรวจภูธร ภาค 4 ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ร่วมมือกับตำรวจภูธรภาค 4 จัดทำโครงการลดอุบัติเหตุจราจรทางถนนแบบมีส่วนร่วม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำข้อมูลจากการสอบสวนแบบสหวิชาชีพมาวิเคราะห์ แล้วนำผลการวิเคราะห์มากำหนดเป็นแนวทางในการป้องกัน แก้ไขปัญหา และลดอุบัติเหตุทางถนน
 
 
ขั้นตอนการดำเนินงาน เริ่มด้วยการให้พนักงานสอบสวน 6 จังหวัดนำร่องได้แก่ จ.อุดรธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มุกดาหาร หนองคาย เลย ซึ่งสังกัดตำรวจภูธรภาค 4  นำคดีอุบัติเหตุจราจรที่เกิดขึ้นและมีผู้เสียชีวิต ทำการสอบสวนร่วมกับเครือข่ายสหวิชาชีพ พร้อมกับวิเคราะห์ถึงสาเหตุแห่งการเกิดอุบัติเหตุ นำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวเข้าวาระการประชุมของจังหวัดและภาค 4 เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหา ทั้งนี้เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน
"การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรทางถนนในชุมชน เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่สามารถเข้าไปจัดการจราจรเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนได้ อันเนื่องมาจากวัฒนธรรมชุมชน ดังนั้นตำรวจภูธรภาค 4 แก้ไขปัญหาด้วยการให้ชุมชนจัดการจราจรด้วยตัวของชุมชน โดยฝึกอบรมแกนนำหญิงในชุมชนเป็นอาสาจราจรหญิง หรือ "กองร้อยน้ำหวาน" จำนวน 6 กองร้อย นำร่องจังหวัดละ 1 กองร้อย รวมทั้งสิ้น 600 คน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานจราจร เป็นชุดปฏิบัติการจัดการจราจรบนถนนในชุมชน ปรับพฤติกรรมคนในชุมชน ให้ขับขี่รถด้วยความปลอดภัย และนำผลการวิเคราะห์ข้อมูลของสหวิชาชีพ ประสานงานกับหน่วยงานในชุมชนวางแผนแก้ปัญหา ป้องกันแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจราจรบนถนนในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส." พล.ต.ต.ธนาศักดิ์ กล่าว.
 
ก่อสิทธิ์ กองโฉม  ขอนแก่น  /  รายงาน






เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS