'สมคิด' สั่งคมนาคมสร้างถนน-รถไฟเชื่อมแหล่งท่องเที่ยวหัวเมืองรอง เร่งไทม์ไลน์โครงข่ายเชื่อมอีอีซี   


6 มกราคม 61 14:26:19

“สมคิด” ลุยงานปี 61 เดินสายมอบนโยบายรายหน่วยงาน บุกกรมทางหลวง เร่งจัดสรรงบสร้างถนนเชื่อมอีอีซี-หัวเมืองรอง กระตุ้นเศรษฐกิจลงภูมิภาค สั่งใช้ยางพาราสร้างถนน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้กับกระทรวงคมนาคม 2-3 เรื่อง ได้แก่ การเชื่อมต่อโครงข่าย ถนน รถไฟ และท่าเรือให้เป็นโครงข่ายเชื่อมต่อระหว่างภาคกับภาค และกลุ่มจังหวัดกับจังหวัด เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค


รวมทั้งให้จัดลำดับความสำคัญโครงการในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ให้อยู่ในงบประมาณปี 2562 เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในเรื่องของการลงทุนจากต่างประเทศ

“โครงการของกระทรวงคมนาคมมีจำนวนมากจะต้องเชื่อมโยงกับผู้รับเหมาทั้งรายใหญ่ กลาง และเล็กในเรื่องความปลอดภัยมาตรฐาน การซื่อสัตย์ไม่ทิ้งงาน เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายการลงทุนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ความสำคัญคือว่าต้องการให้ผู้รับเหมาในอนาคตข้างหน้าเข้ามามีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานของไทยในมิติใหม่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ PPP“ นายสมคิดกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงข่ายถนนเป็นฟีดเดอร์ที่สำคัญ ในการแก้ปัญหาจราจรโดยเฉพาะระบบโลจิสติกส์ หากสร้างทางรถไฟเข้าสู่นิคมอุตสาหกรรมจะใช้ต้นทุนมาก ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2560 ทางหลวงลงทุนไปแล้ว 27,944 ล้านบาท ส่วนปี 2561 ลงทุนอยู่ที่ 9,251 ล้านบาท ปี 2562 อีก 18,490 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2563-2565 อีก 30,000 ล้านบาท ส่วนนี้จะเร่งโครงการมาในงบประมาณปี 2562

ด้านรถไฟขณะนี้มี 2 เส้นทางใหม่ ได้แก่ บ้านไผ่-มุกดาหาร และเด่นชัย-เชียงของ ที่เชื่อมเมืองรอง ท่านรองนายกรัฐมนตรีให้นโยบายให้เชื่อมโยงตะวันออก-ตะวันตก จากเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์ ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังศึกษาเหลือช่วงนครสวรรค์-บ้านไผ่มีองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่นหรือไจก้าทำการศึกษาความเหมาะสม

“การเชื่อมต่อระหว่างตะวันออก-ตะวันตก จะต้องผ่านจังหวัดนครสวรรค์หากมีการสร้างทางรถไฟเชื่อม จะทำให้จังหวัดมีการเติบโต และเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา และเวียดนาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนเมืองรองอื่นๆ ท่านรองนายกให้ไปดูว่ามีเส้นทางรถไฟไหน ที่เป็นเส้นเลือดฝอย สามารถเกาะเกี่ยวมาในเส้นทางรถไฟความเร็วสูงหรือทางคู่ เช่น ภาคอีสานมีเส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร-กาฬสินธุ์ และอีสานใต้จิระ-อุบลราชธานี คนที่อยู่ภาคอีสานตอนกลางและภาคอีสานตอนเหนือ จะลงมาอีสานตอนล่างยังไง อาจจะมีเส้นทางขอนแก่น-บุรีรัมย์ หรือยโสธร-ขอนแก่น เป็นต้น มอบให้รถไฟไปศึกษาแนวเส้นทางเพื่อเพิ่มโอกาสเติบโตของเมืองเล็ก“ นายอาคมกล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังได้ ขอให้ผู้รับเหมาใช้ยางพาราในการก่อสร้างถนนโดยในปี 2561 ตั้งเป้าใช้ยางพารา 4 หมื่นตัน ซึ่งกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท จะหารือกระทรวงเกษตรต่อไป เพื่อช่วยให้ส่งสริมเกษตรกร ซึ่งสัปดาห์หน้าจะมีการหารือกับเอกชนผู้ผลิตยางแอลฟัลท์ขอความร่วมมือในการซื้อน้ำยางดิบด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS