'คมนาคม'เปิดแอคชั่นแพลนทุ่มงบฯ2แสนล้าน-ดันศก.ไทย2561   


1 มกราคม 61 11:21:50

 
          โครงการภายในแอ๊กชั่นแพลนปี2561ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่งที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซีการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านรวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ
 

          ปี2561 รัฐบาลวางกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีไว้สูงถึง 2.9 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นรายจ่ายเพื่อการลงทุนสูงถึง 6.67 แสนล้านบาท ถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลอัดฉีดงบเงินลงทุนมากที่สุดคิดเป็น 23% ของวงเงินลงทุนรวมทั้งหมด
 
          เพื่อให้การลงทุนภาครัฐเกิดขึ้นต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการลงทุนภาคเอกชน
          กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปสู่ระบบเศรษฐกิจฐานราก ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ ทั้งทางถนน ราง น้ำ และอากาศ
 
          ในปี 2561 ได้รับจัดสรรงบประมาณเป็นวงเงินประมาณ 2 แสนล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของงบลงทุนรวมทั้งประเทศ
          นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐรมว.คมนาคม ระบุว่าขณะนี้กระทรวงคมนาคมจัดทำแผนปฏิบัติการลงทุน หรือแอคชั่น แพลน ปี 2561 ของกระทรวงคมนาคมเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และการพัฒนาเชื่อมโยงภูมิภาค
 
          โครงการภายในแอคชั่นแพลนปี 2561 นั้นจะมีทั้งโครงการเก่าที่ผูกพันงบประมาณต่อเนื่องตามแผนแอ๊กชั่นแพลนของปี 2559 และ 2560 และโครงการใหม่ที่บรรจุแผนแอ๊กชั่นแพลนปี 2561
 
          ส่วนใหญ่เน้นการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานขนส่ง ที่สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี การเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ด้วยความสะดวก รวดเร็วและปลอดภัย
 
          เน้นหนักที่ระบบราง ทั้งรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า รถไฟเชื่อมเพื่อนบ้าน และการเร่งปรับปรุงพัฒนาสนามบินภูมิภาคเพื่อหนุนการท่องเที่ยวที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะสนามบินที่ก่อสร้างมานานไม่ได้รับการขยายทั้งระบบอำนวยความสะดวกภายในอาคาร
 
          หากจะวิเคราะห์วงเงินงบประมาณภายใต้แอ๊กชั่นแพลน 2561 ของกระทรวงคมนาคมวงเงิน 2 แสนล้านบาท ซึ่งไม่รวมงบลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ซึ่งบางส่วนจะใช้เงินกู้ดำเนินการแล้ว สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ
          1.เงินงบผูกพันตามแอ๊กชั่นแพลนปี 2559 และ 2560 วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการลงทุนต่อเนื่องที่จะต้องทำต่อ
          2.งบลงทุนในโครงการใหม่ จำนวน 8 โครงการ อีก 1 แสนล้านบาท
          สำหรับโครงการลงทุนตามงบผูกพันเดิมในแอ๊กชั่นแพลนปี 2561 นั้น มีทั้งโครงการที่ได้เปิดประมูลไปแล้ว, เริ่มก่อสร้างไปแล้ว, อยู่ระหว่างการรอเปิดประมูล และอยู่ระหว่างเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการ
          โครงการที่เปิดประมูลไปแล้ว แต่ยังไม่ได้ก่อสร้าง เช่น โครงการ รถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง คือ ช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 ก.ม. ,ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง 132 ก.ม., ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 ก.ม., ช่วงนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 ก.ม. และช่วงหัวหินประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 90 ก.ม.
          ส่วนโครงการอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น ทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-โคราช และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี เป็นต้น
          โครงการที่รอเปิดประมูล เช่น
          1.โครงการรถไฟทางคู่ 9 เส้นทาง ได้แก่ ช่วงชุมพรสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 167 กิโลเมตร, ช่วงสุราษฎร์ธานี-สงขลา ระยะทาง 339 ก.ม., ช่วงหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 75 ก.ม., ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 ก.ม., ช่วงเด่นชัยเชียงใหม่ ระยะทาง 217 ก.ม., ช่วงขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 174 ก.ม., ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 309 ก.ม., ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 326 ก.ม. และ ช่วงบ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง 355 ก.ม.
          2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมืองสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ในพื้นที่อีอีซี
          3.รถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช4.โครงการขยายท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 5.การพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2
          6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร
          7.โครงการทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก ระยะทาง 19 ก.ม. มูลค่า 31,244 ล้านบาท ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งโครงการนี้จะใช้การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) คาดว่าจะเปิดขายกองทุนได้ในช่วงเดือนม.ค.2561 โดย ตั้งเป้าเริ่มงานก่อสร้างปี 2562 ใช้เวลา 4 ปี ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2565 เป็นต้นไป
          โครงการลงทุนใหม่ตามแผนแอ๊กชั่นแพลนปี 2561 นั้นมีจำนวนทั้งสิ้น 8 โครงการ วงเงินลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการขยายการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งไปยังภูมิภาคต่างๆ เน้นทางราง และทางอากาศ ประกอบด้วย
          1.โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลล์เวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน มูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท โดยจะใช้รูปแบบพีพีพี หรือเปิดให้เอกชนร่วม รัฐรับผิดชอบค่าเวนคืน
          2.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) กรุงเทพฯ-มหาชัย มูลค่า 4 หมื่นล้านบาท
          3.โครงการขยายสนามบินกระบี่ อาคารผู้โดยสารที่ท่าอากาศยานกระบี่แห่งที่ 3 มูลค่า 6.6 พันล้าน และขอนแก่น มูลค่า 2.95 พันล้านบาท สร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่
          4.โครงการท่าเรือบกของการท่าเรือแห่งประเทศไทย(กทท.) ที่บริเวณสถานีรถไฟโนนพะยอม ต.ม่วงหวาน อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ขนาดพื้นที่ประมาณ 500-700 ไร่ มูลค่า 3 พันล้านบาท โดยจะพัฒนาเป็นท่าเรือบก และนิคมอุตสาหกรรมขนส่งเนื่องจากอยู่ใกล้กับถนนสายหลัก หรือถนนมิตรภาพ รวมถึง จ.ขอนแก่น เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า มีสินค้าปริมาณมาก และอยู่ใกล้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีโอกาสในการดึงสินค้าส่งผ่าน เข้ามาใช้บริการได้
          รวมทั้งยังสามารถรองรับสินค้าจากจังหวัดใกล้เคียง โดยรอบ เช่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และหนองคาย ได้อีกด้วย
          5.โครงการรถไฟฟ้าภูเก็ต มูลค่า 2.3 หมื่นล้านบาท เบื้องต้นจะใช้รูปแบบลงทุนแบบพีพีพีพี คือเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน มอบให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการ โดยมีเป้าหมายให้เริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561
          6.โครงการรถไฟฟ้าขอนแก่นรถไฟฟ้ารางเบา(แอลอาร์ที)ขอนแก่น เส้นทางบ้านสำราญ-บ้านท่าพระ ระยะทาง 26 ก.ม. 16 สถานี มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท คาดเปิดประมูลเริ่มก่อสร้าง ปี 2561 เปิดเดินรถปี 2563
          7.โครงการรถไฟฟ้านครราชสีมา8.รถไฟฟ้ารางเบา(แทรม) จังหวัดเชียงใหม่ มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
 
          รมว.คมนาคมประกาศชัดเจนว่า ในปี 2561 จะเป็นปีที่ประเทศไทยจะมีเม็ดเงินลงทุนจากโครงสร้างพื้นฐานกระจายไปสู่ระบบเศรษฐกิจมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะ ในช่วงปี 2559-2560 ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคม ได้เร่งรัดโครงการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยปีละ 20 โครงการ
 
          จะทำสำเร็จหรือไม่ต้องวัดกันที่การเบิกจ่ายจริง หากมีแต่ตัวเลขมูลค่าลงทุนแต่หากไม่สามารถผลักดันให้เกิดการเปิดประมูลได้ทันตามกรอบเวลาที่วางไว้
          การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ อาจ ไม่เป็นไปตามที่วาดหวัง

 

ที่มา ข่าวสด

 







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS