ล้ำอีกแล้ว! ถังขยะอัจฉริยะ อีกหนึ่งนวัตกรรม IoT ที่ใช้ในมข.   


6 ธันวาคม 60 22:50:38

         มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัดจัดพิธีบันทึกข้อตกลงโครงการสร้างความร่วมมือด้านสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอ็นบี – ไอโอที(NB - IoT) โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ. ดร. เด่นพงษ์ สุดภักดีรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและสื่อสารองค์กร นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น  และ นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และ องค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสร่วมลงนาม พร้อมด้วยพยานของทั้ง 2 ฝ่าย  ในการนี้มีผู้เข้าร่วมพิธีกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมสิริคุณากร 3 อาคารสิริคุณากร มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2560ที่ผ่านมา
 

         โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด สืบเนื่องจาก นโยบายรัฐบาลที่มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล Digital Economy ซึ่งจังหวัดขอนแก่น ได้ถูกกำหนดให้เป็น Smart City หรือ เมืองอัจฉริยะ Smart City ต้นแบบ ในการบูรณาการโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูลจากเทคโนโลยีสารสนเทศ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things : IoT)  เข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตทุกด้านและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในเมือง เช่น การพัฒนาระบบภายในโรงพยาบาล ระบบขนส่ง โรงไฟฟ้า น้ำประปา การจัดการขยะ เป็นต้น ฉะนั้นบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเอ็นบี – ไอโอที(NB - IoT) มาใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัย ตัวจังหวัด รวมถึงเพื่อพัฒนาธุรกิจของบริษัท

 
 

รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย   ไตรรัตนศิริชัย   อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น

  
         รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย   ไตรรัตนศิริชัย   อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น  เผยว่า  
มหาวิทยาลัยได้นำสิ่งประดิษฐ์และงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มาบูรณาการร่วมเทคโนโลยีNB-IoTในการวิจัยโครงสร้างพื้นฐานอิจฉริยะ (Smart Infrastructure) ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ก้าวหน้าสามารถใช้งานได้จริง  โดยโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ มุ่งเน้นไปที่การรองรับการขยายตัวของเมืองโดยมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เป็นเมืองต้นแบบและเป็นเมืองหลักในการเชื่อมโยงเครือข่ายจังหวัดในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 

         “การทำงานร่วมกันในครั้งนี้มุ่งเน้นการทำงานวิจัยร่วมกัน เพื่อออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์ NB-IoTให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้งาน โดยเน้นไปที่ออกแบบกรณีตัวอย่าง (Use cases) การใช้งานอุปกรณ์และโครงข่าย NB-IoTกับด้านพลังงาน (Smart Energy)  ด้านกีฬา (International Marathon) และ ด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment)  อย่างเหมาะสม เช่น โครงการSmart Trashหรือ ถังขยะอัจฉริยะ ที่จะใช้เซ็นเซอร์เพื่อดูปริมาณขยะในถัง  เจ้าหน้าที่สามารถตรวจเช็คที่หน้าจอแสดงผลที่เริ่มจากสีเขียวที่ปริมาณน้อย เมื่อใกล้เต็มถังจะแสดงสีแดงและจะส่งสัญญาณแจ้งไปที่มือถือของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อดำเนินการให้เจ้าหน้าที่มาเก็บ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาดูทุกวัน สามารถลดการใช้ทรัพยากรไปได้หลายด้าน ขณะเดียวกันก็ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และยังสามารถวิเคราะห์ปริมาณการทิ้งของเสียได้ทุกรายสัปดาห์รายเดือนและรายปี  หากทีมวิจัยพัฒนาถังได้สมบูรณ์แบบแล้วจะนำไปติดที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์ให้เป็นต้นแบบ ภายในปี 2561 อย่างแน่นอน”รองศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย  ไตรรัตนศิริชัย
 

          นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และ องค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า  ขอขอบคุณมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ไว้วางใจ AIS เพื่อร่วมกันนำเทคโนโลยีอย่าง (NB - IoT) มาร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆด้านบริหารจัดการซึ่งถือได้ว่าสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐเป็นอย่างยิ่ง
 

          “ในอนาคตการใช้งานอินเตอร์เน็ตจะเติบโตถึง 300 เปอร์เซ็นต์โดยตลาดที่เติบโตมากที่สุดคือ FixBroadband และกลุ่มการใช้งานของอุปกรณ์ (NB - IoT) ที่เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งจุดเด่นเครือข่าย NB lot ของ AIS ประกอบด้วยการใช้งานพลังงานไฟฟ้าต่ำ จึงช่วยทำให้อายุการใช้งานแบตเตอรี่ของอุปกรณ์อยู่ได้นานถึง 10 ปีสามารถรองรับปริมาณอุปกรณ์ (NB - IoT) ได้สูงสุดแสนตัวต่อสถานีรัศมีครอบคลุมของเครือข่ายต่อสถานีกระจายได้มากกว่า 10 กม. รวมถึงในตัวอาคารก็ยังรับสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และ ออกแบบอุปกรณ์ให้ใช้ร่วมกับโครงข่าย 4G ในปัจจุบันได้ ผมจึงเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขอนแก่นในครั้งนี้นอกเหนือจากเป็นการส่งเสริมให้ นักวิจัย คณาจารย์ นักศึกษาได้มีโอกาสพัฒนา innovation ideas ให้เป็นรูปธรรมได้แล้วยังสามารถเป็นจุดเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่นโยบายด้านบริหารจัดการของไทยในอนาคตอย่างแน่นอน”นายวีรวัฒน์  เกียรติพงษ์ถาวร  กล่าว
 

           ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงมีผลใช้บังคับนับแต่นับแต่วันที่ลงนามเป็นต้นไป และให้มีกำหนดเวลา 3 ปี

ที่มา https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0014996&l=th







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS