3นักศึกษา มข. บริหารจัดการ 'น้ำแร่ผุด' หมู่บ้านหัวบึง - สืบสานพระราชดำรัส 'น้ำคือชีวิต'   


11 พฤศจิกายน 60 23:11:19

          "หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้แต่ถ้ามีไฟฟ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้"
          พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเมื่อวันที่ 17 มี.ค.2529
 
          จากพระราชดำรัสดังกล่าวของ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ก่อเกิดเป็นแนวคิดในการส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ตระหนักถึงความสำคัญของน้ำ โดยโครงการ "ปั้นฝัน เดอะบัณฑิต" ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกันของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยมูลนิธิปิดทองหลังพระ มูลนิธิรากแก้ว และ เครือเนชั่น จึงได้นำพระราชดำรัสนี้มาเป็นหัวข้อในการดำเนินการโครงการปีที่ 4 ภายใต้หัวข้อ "น้ำคือชีวิต"
 
          เพื่อส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษา ได้ใช้ความคิดเชิงสร้างสรรค์คิดค้นโครงการ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับชุมชน แสดงให้เห็นถึงประโยชน์การบริหารจัดการน้ำ

 
          โดยเปิดรับโครงการจากนิสิตนักศึกษาทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ.2560 ก่อนจะพิจารณาผลงานที่เข้าตากรรมการจำนวน 10 โครงการ เพื่อนำไปจับคู่กับภาคเอกชนร่วมดำเนินงานและได้รับทุนสนับสนุนการดำเนินโครงการ 30,000 บาท ทั้งยังจะได้ถ่ายทำโครงการเป็นรายการเรียลลิตี้ ออกอากาศทางช่อง NOW26 ด้วย
 
          โครงการบริหารจัดการน้ำระดับท้องถิ่นเพื่อปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านหัวบึง ต.ทรายมูล อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการที่ผ่านการคัดเลือก และกำลังจะได้ออกอากาศทางช่อง NOW26 ในวันที่ 10 ธ.ค.นี้


 
          โครงการนี้เกิดจากแนวคิดของนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเพียง 3 คนเท่านั้นประกอบด้วย
          "เจน" ถิรดา ดีมืด ปี 3 คณะเกษตรศาสตร์ "ตัง" เศรษฐคุณ เหมทานนท์ ปี 4 คณะวิศวะกรรมศาสตร์ และ "ฟิวส์" นรเทพ จิพายัพ ปี 4 วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น โดยมี รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทยอิวาย อาจารย์คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาโครงการ
 
          กลุ่มหนุ่ม-สาวในรั้วมหาวิทยาลัยรวมตัวกันคิดโครงการดีๆเพื่อช่วยเหลือชุมชนแบบนี้ "ซุปเปอร์เฟรชชี่" ย่อมไม่พลาดแน่นอนว่าแล้วก็บุกเข้ารั้วมหาวิทยาลัยขอนแก่นไปถามที่มาที่ไปในการคิดโครงการดีๆแบบนี้กันเลยดีกว่า
          เริ่มจาก "เจน" ถิรดา ดีมืด สาวหนึ่งเดียวของทีมแถมพ่วงด้วยตำแหน่งหัวหน้าทีม เล่าว่า "หมู่บ้านหัวบึงมีทรัพยากรทางน้ำที่ทรงคุณค่าคือมีน้ำแร่ผุด แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้กับความต้องการของชุมชนได้ จึงลงพื้นที่ทำวิจัยศึกษาปัญหา และนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับท้องถิ่นเสริมองค์ความรู้ตามหลักวิชาการให้กับชาวบ้าน เนื่องจากแม้ชาวบ้านจะมีองค์ความรู้อยู่แล้วแต่ไม่มีข้อมูลเชิงวิชาการที่ถูกต้อง เช่น น้ำแร่มีโพแทสเซียมเหมาะกับพืชต้องการใบต้องการผล ไม่ควรใช้สารเคมี วิธีเลือกพืชมาปลูก การปรับหน้าดิน เป็นต้น และเมื่อบูรณาการความรู้จากเพื่อนร่วมทีมที่เรียนด้านวิศวกรรม และด้านการปกครองจึงทำให้งานสำเร็จลุล่วง เกิดเป็นโรงปลูกผักปลอดสารพิษแบบใช้น้ำแร่ให้กับหมู่บ้านนี้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้า เกิดรายได้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หล่อเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืน"
 
          ส่วน "ตัง" เศรษฐคุณ เหมทานนท์ บอกว่า "การศึกษาในตำราทำให้เราทราบถึงทฤษฎี แต่จะเด่นชัดเพิ่มขึ้นเมื่อนำมาใช้กับพื้นที่จริง ซึ่งหลังทำโครงการนี้ได้ค้นพบว่า นอกจากการลงพื้นที่ไปให้ความรู้ชาวบ้านแล้ว ในทางกลับกันชาวบ้านยังเป็นครูสอนวิชาวิศวกรรมศาสตร์ให้ด้วย เช่น ในตำราเรียนสอนให้เราสามารถคำนวณแบบมหภาค คำนวณน้ำจากเขื่อนขนาดใหญ่ 1,000 ไร่ได้แต่ในกรณีน้ำผุดจากป่า เอามาใช้ในพื้นที่โล่งในโรงปลูกผักนั้น ไม่มีอยู่ในตำราเกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้านการได้มาลงพื้นที่ทำให้เราเองก็ได้เรียนรู้จากชาวบ้านไปในตัวด้วย"
 
          ปิดท้ายกันที่ "ฟิวส์" นรเทพ จิพายัพ บอกว่า "มหาวิทยาลัยสอนให้ตระหนักเสมอว่าเราเป็นหนี้สังคม เงินที่เรียนมาจากประชาชน ฉะนั้นควรทำอะไรเพื่อผู้อื่นเสมอ โดยเฉพาะองค์ความรู้ด้านการปกครองท้องถิ่นที่มีผลต่อการขับเคลื่อนโครงการอย่างมากแต่ละชุมชนมีทัศนคติไม่เหมือนกัน ความรู้ไม่เท่ากันมี หน้าที่เรา คือ พูดคุยกับชาวบ้านให้เปิดใจรับ หากจะพูดคุยต้องไม่ใช่หลักวิชาการ แต่เป็นการเข้าใจและเข้าถึงตามศาสตร์ของพระราชาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯเข้าไปถึงทุกพื้นที่ ไปดู ไปรู้ ให้เห็นว่าประชาชนของพระองค์นั้นประสบปัญหาอย่างไร จะได้นำมาแก้ไขถูกต้อง"
 
          นับเป็นอีกกลุ่มนักศึกษา "น้ำดี" ที่มาร่วมกันคิด โครงการดีๆเพื่อช่วยเหลือหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล
          ซึ่งนอกจากการได้ลงพื้นที่ปฏิบัติจริง จะได้ใช้วิชาที่เรียนมาถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านสร้างประโยชน์ให้กับหมู่บ้านยังทำให้ได้รับองค์ความรู้ในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่สามารถหาได้จากในห้องเรียน หรือในตำราเรียนกลับมาด้วย
 
          และสิ่งหนึ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นใด คือ
          "ความสุขใจ" ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านหมู่บ้านหัวบึงอย่างยั่งยืน.

ที่มา ไทยรัฐ 
       ซุปเปอร์เฟรชชี่ /รายงาน







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS