15 มหาวิทยาลัยในภาคอีสาน MOU การต่อต้านการทุจริต   


27 มิถุนายน 60 15:01:38

?เมื่อเวลา 09.25 น. วันที่ 27 มิ.ย. ณ อาคารวิศวะรวมใจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต ได้มาเป็นประธานจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 3/2560 ระหว่างมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กับ มหาวิทยาลัยต่างๆในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการเสวนาทางวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริต โดย รศ.ดร.กิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ดำเนินงานจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริต ฯ

หลังจากนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ พร้อมด้วย รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น นายทศพร รัตนมาศทิพย์ กรรมการมูลนิธิฯ นางศิริรัตน์ วสุวัต กรรมการมูลนิธิฯ และ ดร.ณัฏฐญา พัฒนะวาณิชนันท์ รองเลขาธิการมูลนิธิ ได้เสวนาทางวิชาการในหัวข้อ “เยาวชนกับบทเรียนต้านโกง”

?สืบเนื่องจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเปรียบเสมือนมะเร็งร้าย ทำลายชาติ สร้างความเสียหายให้กับประเทศคิดเป็นมูลค่ามหาศาล มูลนิธิต่อต้านการทุจริตซึ่งจัดตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2557 จึงเข้ามาแบ่งเบาภาระรัฐบาลในการเข้ามามีส่วนร่วมรณรงค์ต่อต้านการทุจริต โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่พร้อมให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนแก้ปัญหาการทุจริต เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงได้เป็นเจ้าภาพจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการต่อต้านการทุจิตริต ครั้งที่ 3 / 2560 ระหว่างมูลนิธิฯ กับ มหาวิทยาลัยต่างๆ 15 สถาบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยวางกลยุทธ์ในการสร้างกลไก เครือข่าย ปลุกจิตสำนึกเด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ตระหนักถึงปัญหา รวมพลังต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการมูลนิธิต่อต้านการทุจริต กล่าวว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้รับเป็นเจ้าภาพทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 3 / 2560 ซึ่งเป็นสถาบันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งตอนบนและตอนล่าง 15 สถาบัน เพื่อผนึกกำลังต่อสู้กับปัญหาที่เป็นภัยร้ายแรงที่สุดของชาติ คือ ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และการประพฤติมิชอบ ทั้งในระบบราชการและในวงการธุรกิจ

ทั้งนี้มูลนิธิต่อต้านการทุจริตเห็นว่าในการดำเนินงานต่อต้านการทุจริตจะอาศัยเพียงองค์กรรัฐ หรือองค์กรอิสระ คนทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามในการทุจริตไม่ไหวแน่ จึงต้องมีความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนไมว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือภาคธุรกิจก็ตาม นอกเหนือจากนั้นรัฐบาลจะต้องมีแนวและนโยบายที่แน่นอน?ในการปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบ ที่เห็นได้จากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านกระบวนการประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2560 ที่มีมาตรา 63 ที่รองรับการร่วมมือร่วมแรงร่วมใจกันในการต่อต้านการทุจริต โดยให้ความรู้ทุกภาคส่วนด้วยการให้ความรู้ที่จะผนึกกำลังกันปลูกและปลุกจิตสำนึกของประชาชนไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่แห่งหนตำบลใด และให้ความคุ้มครองของบุคคลที่เข้ามาร่วมกระบวนการเป็นเครือข่ายในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งมูลนิธิต่อต้านการทุจริตได้นำมาใช้เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาในการปลูกจิตสำนึก พร้อมกับปฏิเสธการโกง การไม่ร่วมมือกับการทุจริตคอรัปชั่นทุกอย่าง กระทั่งมาถึงปัจจุบัน

มูลนิธิต่อต้านการทุจริตให้ความสำคัญที่สุด คือเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่อยู่ในสถาบันการศึกษา ร่วมกับผู้ที่ให้แนวทางและความคิดที่ถูกต้องกับเยาวชนในการต่อต้านการทุจริต ปัจจุบันมูลนิธิต่อต้านการทุจริตขยายผลไปถึงนักศึกษา มัธยมศึกษา ประถมศึกษา และท้ายสุดจะต้องลงมาถึงชั้นอนุบาล ให้มีแนวความคิดและปลูกจิตสำนึกสาธารณะที่จะร่วมมือร่วมใจกันในการที่ป้องกันทุจริตคอรัปชั่น ไม่ยอมรับการโกงทุกประเภท.

 

ขอขอบคุณภาพและข่าว

คุณ?ก่อสิทธิ์ กองโฉม ขตว.เดลินิวส์ ขอนแก่น







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS