ปั้น 'ขอนแก่น' ฮับอีสาน เร่งไฮสปีดเทรน ขยายสนามบินรับท่องเที่ยว 'ไมซ์ซิตี้'   


28 เมษายน 60 12:34:40

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และราง กำหนดเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย และแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง ระยะเร่งด่วนปี 2559-2560 (Action Plan) มี 56 โครงการ เงินลงทุนกว่า 2.2 ล้านล้านบาท สอดรับกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (2560-2564)

"หากเทียบสัดส่วนจำนวนประชากร ภาคอีสานมีโครงข่ายคมนาคมสมบูรณ์ที่สุด โดยเฉพาะถนน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าข้ามจังหวัด เชื่อมระหว่างภาคและกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงและอาเซียน ผ่านทางด่านชายแดนหนองคาย นครพนม มุกดาหาร"

ทั้งนี้โครงการลงทุนระยะเร่งด่วนพื้นที่ภาคอีสาน มีวงเงินรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท มากที่สุด "ทางราง" 6 โครงการ มีรถไฟทางคู่ 5 เส้นทาง ได้แก่ จิระ-ขอนแก่น 187 กม. วงเงิน 23,802 ล้านบาท งานก่อสร้างคืบหน้า 21.09%, มาบกะเบา-จิระ 132 กม. กำลังประมูล วงเงิน 29,449 ล้านบาท จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดือน มิ.ย.-ก.ค. มีจิระ-อุบลราชธานี 308 กม. วงเงิน 37,431 ล้านบาท, ขอนแก่น-หนองคาย 167 กม. วงเงิน 26,663 ล้านบาท และบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม เป็นรถไฟทางคู่สายใหม่ 355 กม. วงเงิน 60,353 ล้านบาท หลังจากพูดกันมาหลาย 10 ปีจะผลักดันให้เกิดในรัฐบาลนี้

ส่วนรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย เริ่มสร้างเฟสแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา 250 กม. วงเงิน 229,614 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน อยู่ระหว่างออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเซ็นสัญญาจ้าง มิ.ย.และเปิดประมูล ส.ค.นี้



"ทางบก" มี 2 โครงการ คือ มอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา 196 กม. วงเงิน 73,133 ล้านบาท งานก่อสร้างคืบหน้า 3.02% และศูนย์การขนส่งสินค้านครพนม อยู่ระหว่างประมูล วงเงิน 1,053 ล้านบาท จะรองรับการขนส่งสินค้าชายแดนไทย ลาว เวียดนามและจีน จะเริ่มสร้างปี 2561-2563 อนาคตจะมีสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ใน 2 จังหวัดชายแดนที่หนองคายและมุกดาหาร รวมถึงจังหวัดหลักที่ขอนแก่น อุบลราชธานี นครราชสีมา และพัฒนาจุดพักรถบรรทุกตามเส้นทางหลัก โดยให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการ

"ทางอากาศ" มี 2 โครงการคือ ปรับปรุงสนามบินสกลนคร อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางขับ ลานจอดเครื่องบิน เสริมผิวทาง และขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงิน 528 ล้านบาท ให้รองรับผู้โดยสารได้ 5.8 แสนคน/ปี จากปัจจุบัน 3.7 แสนคน/ปี และขยายสนามบินขอนแก่นวงเงิน 2,000 ล้านบาท จะเร่งแผนเร็วขึ้นเป็นปี 2561 จะสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ ลานจอด อาคารจอดรถ เพื่อยกระดับเป็นสนามบินนานาชาติ

"จะเสร็จปี'62 มีทางคู่จิระ-ขอนแก่น สนามบินสกลนคร ปี'63 มีไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราช ทางคู่มาบกะเบา-จิระและขอนแก่น-หนองคาย ศูนย์ขนส่งสินค้านครพนมมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราชและสนามบินขอนแก่น ปี'64 ทางคู่จิระ-อุบลราชธานี และปี'66 ทางคู่บ้านไผ่-นครพนม" นายอาคมกล่าวและว่า

จังหวัดมีโครงการพาดผ่านต้องเตรียมตัวให้พร้อม โดยเฉพาะขอนแก่นที่เป็นจังหวัดศูนย์กลางการค้า การลงทุน และเป็นสมาร์ทซิตี้ตามนโยบายของรัฐบาลก็ต้องใช้โอกาสนี้ เช่น สถานีบ้านไผ่ต่อไปเป็นชุมทางรถไฟทางคู่และรถไฟสายใหม่ ต้องใช้ประโยชน์จากการพัฒนาที่โดยรอบให้เกิดประโยชน์

"รัฐให้ขอนแก่นเป็นสมาร์ทซิตี้ เพราะเป็นเมืองใหญ่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจ การประชุมหรือไมซ์ซิตี้ และท่องเที่ยว กระทรวงจะเข้าไปเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ เพราะเมืองใหญ่จะมีปัญหาจราจร แต่ขอชื่นชมพลังของเอกชนขอนแก่นที่ไม่นั่งรอรัฐ ได้รวมตัวกันพัฒนาเมืองให้เจริญและทันสมัย"

 

ขอขอบคุณภาพและข่าว ประชาชาติออนไลน์







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS