ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในความทรงจำ ภราดร ศรีชาพันธุ์   


24 ตุลาคม 59 11:52:54

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับการกีฬาไว้ว่า “การกีฬามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับชีวิตของแต่ละคนและชีวิตบ้านเมือง” พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ พระองค์ทรงส่งเสริมกีฬาทุกชนิด พร้อมทั้งทรงเล่นกีฬาหลายชนิดเช่นกัน และยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ รวมถึงเทนนิส ซึ่งเป็นกีฬาที่น่าสนใจไม่แพ้กีฬาชนิดอื่น

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเคยทอดพระเนตรการแข่งขันของ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ชายชาวขอนแก่น อดีตนักเทนนิสทีมชาติไทย โดยภราดรเป็นนักเทนนิสที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งในระดับทีมชาติซึ่งเคยได้เหรียญทองชายเดี่ยว ซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ที่อินโดนีเซีย, 3 เหรียญทอง ซีเกมส์ ครั้งที่ 20 ที่บรูไน, เหรียญทองชายคู่ เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ไทย, เหรียญทองชายเดี่ยว เอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 14 ที่ปูซาน เกาหลีใต้ และในระดับอาชีพก็ทำผลงานได้ดี ภราดรเป็นคนแรกของเอเชียที่ก้าวขึ้นไปครองอันดับ 9 ของโลก เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2003 จัดเป็นอันดับโลกที่ดีที่สุดที่ยังไม่มีนักเทนนิสไทยคนไหนทำได้ และยังเป็นผู้ปลุกกระแสทำให้เด็กๆ และเยาวชนหันมาสนใจเล่นเทนนิสมากขึ้น

          ย้อนไปปี 2003 ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ขณะที่ภราดรแข่งขันเทนนิสรายการแกรนด์สแลมที่ 3 ของปี “วิมเบิลดัน” ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ภราดรได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ภราดรมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้และสามารถพลิกสถานการณ์จากที่ตกเป็นรองได้สำเร็จ

          ภราดร หรือชื่อเล่นว่า บอล ในวัย 37 ปี เล่าว่า ในวิมเบิลดัน รอบสอง ซึ่งพบกับ โอลิวิเยร์ มูตีส์ จากฝรั่งเศส ตนพ่ายไปก่อน 2 เซต 4-6, 1-6 แล้วฝนตกลงมา ทำให้เกมต้องหยุดชะงักไปนาน บรรดานักเทนนิสก็กลับเข้าห้องพักนักกีฬาซึ่งรวมถึงตนด้วย จากนั้นประมาณ 10 นาที ผู้จัดการแข่งขันประกาศว่าขอให้ ภราดร ศรีชาพันธุ์ ไปติดต่อที่ออฟฟิศทัวร์นาเมนต์ และส่งเจ้าหน้าที่เดินมาตามให้ไปรับโทรศัพท์ พร้อมแจ้งให้ทราบเป็นภาษาอังกฤษว่า "The King Call You" ทันทีที่ได้ยินก็ตกใจมาก

 

         "ตอนแข่งรอบสองกับนักเทนนิสฝรั่งเศส โดย 2 เซตแรก ผมเป็นฝ่ายแพ้ ก่อนที่ฝนจะตก ทำให้เกมทุกอย่างเบรกหมด นักกีฬาก็กลับเข้าห้องพัก ประมาณสัก 10 นาที ทางทัวร์นาเมนต์ประกาศเข้ามาในห้องว่า ภราดรมาติดต่อที่โต๊ะทัวร์นาเมนต์หน่อย จากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่เดินมาตาม แจ้งว่ามีสายจากทางเมืองไทย หากบอลจำไม่ผิดเขารู้จักบอลเขาบอกว่า ภราดร เดอะ คิง คอล ยู ผมตกใจมาก ตอนนั้นรู้แต่เพียงว่าต้องรีบวิ่งไปรับโทรศัพท์ให้เร็วที่สุด

          เมื่อยกหูโทรศัพท์แล้วรับสาย เป็นเสียงของราชเลขาธิการที่โทรจากสำนักราชเลขาธิการพระบรมมหาราชวัง เรียกชื่อภราดรและบอกว่า ผมเป็นเลขาธิการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทอดพระเนตรอยู่ พระองค์ทรงให้โทรศัพท์มาให้กำลังใจ ทรงฝากพระราชกระแสรับสั่งว่า ให้สู้นะ ตั้งใจนะ ผมตอบไปอย่างตื่นเต้น ขอบคุณครับ และจะทำตามที่มีพระกระแสรับสั่ง จะทำให้ดีที่สุด"

          หลังจากนั้นภราดรกลับเข้าห้องพักนักกีฬาด้วยความปลื้มปีติ เพราะไม่คาดคิดว่าจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่หาสิ่งใดเปรียบได้ ก่อนอาบน้ำสวมชุดแข่งขันชุดใหม่และเตรียมตัวลงสนามแข่งขันต่อ ซึ่งเกมหยุดไปประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า เมื่อกลับมาชิงชัยกันอีกครั้ง ปรากฏว่า ภราดร ซึ่งเหมือนมีพลังและกำลังใจอันเต็มเปี่ยม รวบรวมพละกำลังที่มีจนสามารถเอาชนะได้ 3 เซตรวด ทำให้พลิกสถานการณ์จากที่เป็นรองโดนนำ 2 เซต กลายเป็นผู้ชนะไปในที่สุด ด้วยสกอร์ 3-2 เซต 4-6, 1-6, 7-6 (7-4), 7-5 และ 7-5 โดยภราดรทำผลงานได้ดีที่สุดในรายการวิมเบิลดันปีนั้น ที่เข้าถึงรอบ 16 คนสุดท้าย ก่อนแพ้ แอนดี ร็อดดิก นักเทนนิสหนุ่มชาวอเมริกัน ด้วยสกอร์ 1-3 เซต 4-6, 6-3, 3-6 และ 2-6

          ภราดร เคยทำผลงานด้วยการคว้าแชมป์อาชีพในรายการของเอทีพี ทัวร์ รายการแรกในชีวิตที่ลองไอร์แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนสิงหาคม 2002 จากนั้นเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ได้แชมป์เอทีพี ทัวร์ รายการที่สอง ที่กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ต่อมาปี 2003 ประเดิมศักราชใหม่ด้วยการคว้าแชมป์เอทีพี ทัวร์ ที่เมืองเชนไน ประเทศอินเดีย ก่อนที่เดือนสิงหาคมจะป้องกันแชมป์ที่ลอง ไอร์แลนด์ เอาไว้ได้ ขณะที่ต้นปี 2004 เคยได้แชมป์ที่น็อตติงแฮม ประเทศอังกฤษ ส่วนผลงานในรายการแกรนด์สแลม แม้ไม่เคยได้แชมป์แต่เคยเข้าไปถึงรอบ 4 หรือรอบ 16 คนสุดท้าย ทั้งใน วิมเบิลดัน 2003, ยูเอส โอเพ่น 2003 และออสเตรเลียน โอเพ่น 2004

          อดีตนักเทนนิสชายมืออันดับ 9 ของโลก กล่าวว่า ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ ถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และครั้งที่สองเข้าเฝ้าฯ ณ วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้ง 2 ครั้ง พระองค์มีพระราชกระแสรับสั่งในแง่มุมที่น่าคิดและเป็นที่ปลื้มปีติมากที่พระองค์ทอดพระเนตรตลอดในระหว่างที่ตนแข่งขัน 

          พระองค์มีพระราชดำรัสว่า หนึ่งคือเรื่องความเพียร และพระราชทานเหรียญพระมหาชนกให้ อันเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของความเพียรและความสำเร็จ ปัจจุบันยังฝากเหรียญพระมหาชนกไว้ที่บิดาคือ นายชนะชัย ศรีชาพันธุ์ 

          “พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า เป็นเหรียญพระมหาชนกนะ ให้เก็บรักษาไว้ให้ดี เป็นสัญลักษณ์ของความเพียรพยายาม ถ้ามีความเพียรพยายามแล้ว ความสำเร็จก็จะตามมาเหมือนที่ภราดรทำสำเร็จและขอให้ทำต่อไป”

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชดำรัสเรื่องที่สองคือ เวลาจะทำอะไรต้องรู้ลึกและรู้จริง การเล่นเทนนิสก็ต้องศึกษาคู่แข่งขัน รวมถึงศึกษาสภาพสนามแข่งขัน หากมีฝนตกให้ลองไปดูสิว่าน้ำฝนไหลไปทางจุดไหน ดูจากพื้นสนามเทนนิสนั่นแหละมันเอียงไปตรงไหน จะได้เห็นชัดกว่าเดิม พระองค์ทรงสอนให้ใส่ใจในรายละเอียดในทุกๆ เรื่อง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น และสร้างความปลาบปลื้มใจให้ตนและครอบครัวเป็นอย่างมากที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าฯ รวมถึงการที่พระองค์สนพระราชหฤทัยการแข่งขันเทนนิสของตนด้วย

          ในการเข้าเฝ้าฯ นั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตนายกสมาคมกีฬาเทนนิส ลอนเทนนิสสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ประสานไปยังสำนักพระราชวัง นำตนและคณะเข้าไปกราบเบื้องพระยุคลบาท

 

          พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระราชกระแสรับสั่งกับนายสุวัจน์ว่า “สุวัจน์ดูแลภราดรให้ดีนะ ภราดรเป็นสมบัติของชาติ” นายสุวัจน์ก็ปฏิบัติตามพระกระแสรับสั่งจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งจะเห็นได้จากภาพทั่วไปว่านายสุวัจน์ดูแลตนดีมาก ตนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างมากตราบจนถึงทุกวันนี้ ในหลวงให้ความสำคัญกับผู้ที่ทำชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ผู้ที่เป็นคนดี และพสกนิกรชาวไทยทุกคน

           “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานเหรียญพระมหาชนกให้กับมือเลย เป็นสิ่งที่ได้รับพระราชทานจากพระองค์ท่านและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันคือความเพียร ที่ในขณะนั้นบอลเองก็ทำหน้าที่นักกีฬา เพราะฉะนั้นความเพียรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก เป็นนักกีฬาต้องมีความเพียรและมีวินัย พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสไว้ในวันที่มอบเหรียญพระมหาชนกให้ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในพระราชวังดุสิต”

          ภราดร ศรีชาพันธุ์ ชื่อที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีและยังคงจำภาพที่ภราดรนำเอกลักษณ์อันดีงามของไทยคือการพนมมือไหว้ไปเผยแพร่ ซึ่งจะไหว้ขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในสนามรวมถึงผู้ชมหลังจบการแข่งขันทุกครั้ง กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในหลวง รัชกาลที่ 9 เป็นกษัตริย์นักกีฬา หัวใจของพระองค์ทรงรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งนักกีฬาทุกคนควรยึดเป็นแบบอย่าง”

 

ขอขอบคุณภาพและข่าว

คมชัดลึก







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS