ผู้ใช้แรงงานเฮ! มติบอร์ดค่าจ้างขึ้นค่าแรง69จว. ขอนแก่นปรับขึ้น8บาท   


20 ตุลาคม 59 09:51:16

 

          ผู้ใช้แรงงานเฮ บอร์ดค่าจ้างเคาะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 69 จังหวัด 5-10 บาท แต่ไม่ปรับให้ 8 จังหวัดอ้างเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ โดยกรุงเทพปริมณฑล ปรับขึ้นสูงสุด 10 บาท เตรียมเสนอ ครม. พิจารณา บังคับใช้ 1 ม.ค.นี้ 

    ที่กระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 19 ต.ค. ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง พร้อมด้วยนายสมบัติ น้อยหว้า คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายลูกจ้างและนายวัลลภ กิ่งชาญศิลป์ คณะกรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้างร่วมแถลงผลการประชุมบอร์ดพิจารณาปรับค่าจ้างขั้นต่ำว่า ที่ประชุมมีมติให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำปี 2560 ใน 69 จังหวัด ให้ปรับขึ้น 5-10 ส่วนอีก 8 จังหวัด ยังให้คงอัตราเดิมที่วันละ 300 บาท ซึ่งเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2556 ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และมีข้อตกลงที่จะปรับขึ้นในปี 2560 

สำหรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ 
1.กลุ่มที่ไม่ปรับค่าจ้าง มี 8 จังหวัด ได้แก่สิงห์บุรี ชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง ระนอง นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ผู้ใช้แรงงานจะได้ค่าแรงขั้นต่ำ วันละ 300 บาท เท่าเดิม 
2.กลุ่มปรับขึ้น 5 บาท 49 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง น่าน ตาก กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี พัทลุง สตูล กำแพงเพชร พิจิตร แพร่ เพชรบูรณ์ อุทัยธานี สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ชัยนาท ลพบุรี นครนายก สระแก้ว ประจวบคีรีขันธ์ สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ลำพูน พะเยา สุโขทัย อุตรดิตถ์ บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อ่างทอง เลย หนองบัวลำพู มุกดาหาร ยโสธร เชียงราย พิษณุโลก อุดรธานี ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ และหนองคาย จะได้ค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มเป็นวันละ 305 บาท 
3. ปรับขึ้น 8 บาท 13 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี ชลบุรี ระยอง สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ สระบุรี ฉะเชิงเทรา กระบี่ พังงา และนครศรีอยุธยา จะได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 308 บาท 
4. ปรับขึ้น 10 บาท 7 จังหวัด มีกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และภูเก็ต จะได้ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 310 บาท โดยค่าจ้างอัตราใหม่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2560 เป็นต้นไป 
 
          ม.ล.ปุณฑทริกกล่าวว่า การปรับค่าจ้างยึดตามข้อกำหนด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน เดิมมีการเสนอปรับขึ้นค่าจ้างเพียง 13 จังหวัดจึงได้ให้กลับไปพิจารณากำหนดค่าจ้างมาใช้เป็นครั้งแรก คือ ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นุทนการผลิต ราคาการผลิต ความสามารในการผลิต มาตรฐานการครองชีพ ราคา สินค้าและบริการ ความสามารถทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพเศรษฐกิจและสังคมและให้ศึกษาเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้านจึงได้ผลลัพธ์ตามที่มีมติออกมา ส่วน 8 จังหวัดที่ไม่ปรับขึ้นเป็นเพราะนำปัจจัยทั้งหมดมาเข้าสูตรคำนวณแล้วสภาพเศรษฐกิจมีความเหมาะสมกับค่าจ้างเดิมที่ 300 บาท จึงยังให้คงอัตราเดิม ขอยืนยันว่าบอร์ดได้พิจารณาตามปัจจัยของแต่ละจังหวัดอย่างรอบคอบขั้นตอนต่อไปจะสรุปผลการประชุมส่งให้ รมว.แรงงานพิจารณาลงนาม และส่งเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.โดยเร็วที่สุด

ขอขอบคุณ
ข่าวจาก https://www.thairath.co.th
ภาพจาก http://www.prachachat.net/







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS