เจาะข่าวลึก! ททท.ชงขอนแก่นโมเดล ปั้นเมืองต้นแบบท่องเที่ยวอีสาน 5 ล้านคนปี 60   


20 กรกฎาคม 59 11:21:13

เจาะข่าวลึก! ททท.ชงขอนแก่นโมเดล ปั้นเมืองต้นแบบท่องเที่ยวอีสาน 5 ล้านคนปี 60 
 
          ซีพีแลนด์ทุ่ม2พันล.เปิดศูนย์ประชุมรับไมซ์ซิตี
 
          ททท.ชู "ขอนแก่น โมเดล" ยกระดับสู่เมืองหลักด้านการท่องเที่ยว วางเป้าขยับหัวทัวริสต์เพิ่มเป็น 5 ล้านคนต่อปี ในปี 60 โฟกัสดึงไมซ์-อีเวนต์ ประเดิมประชุมสภาท่องเที่ยวโลกเข้าพื้นที่ โดยวางหมากจุดขายเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง รับลูกการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ใหม่รัฐและเอกชน มูลค่าไม่ต่ำกว่า 3.95 หมื่นล้านบาท ทั้งศูนย์ประชุมกลุ่ม ซีพีแลนด์ แผนขยายสนามบิน รถไฟทางคู่  และระบบขนส่งมวลชนรางเบา

 
          การที่จังหวัดขอนแก่นกำลังมีแผนการลงทุน พัฒนาเมืองครั้งใหญ่ เพื่อก้าวไปสู่สมาร์ทซิตี ทั้งด้านการศึกษา การแพทย์ โครงข่ายโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน และระบบขนส่งรถไฟฟ้ามวลเบาในตัวเมือง ที่กำลังจะเกิดขึ้นในไม่ช้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงเห็นศักยภาพที่จะยกระดับขอนแก่นให้เป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยว ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
 
          นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท.เปิดเผยว่ามีนโยบายที่จะผลักดันการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของจังหวัดขอนแก่น ให้ก้าวขึ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทยโดยมีเป้าหมายจะเพิ่มจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือน(นักท่องเที่ยวที่มาพักค้างคืนและนักทัศนาจร)จากปัจจุบันที่มีจำนวน 3.8 ล้านคนต่อปีเพิ่มให้เป็นไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนต่อปี ภายในปี 2560 หรือเพิ่มอีก 1.2 ล้านคนภายใต้กลยุทธ์ "ขอนแก่น โมเดล"
 
          จุดพลุ นิวบีซคอนเนกต์
 
          เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพการพัฒนาในเชิงพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงโครงข่ายการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีโครงการสำคัญหลายโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น และเอื้อประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวและการเข้าถึงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าของภาคเอกชนที่จะเปิดให้บริการในช่วงปลายปีหน้า แผนการขยายศักยภาพท่าอากาศยานขอนแก่น การลงทุนโครงข่ายด้านคมนาคม ทำให้ขอนแก่นมีความโดดเด่นที่สุดในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งยังเป็นเมืองที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภาคลุ่มน้ำโขง ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การผลักดันการท่องเที่ยวเชื่อมโยงได้เป็นอย่างดี
 
          ผู้ว่าการ ททท.ยังกล่าวอีกว่า การผลักดัน ขอนแก่น โมเดลจะเน้นแนวทางการดำเนินการที่เรียกว่า "New Biz Connect"  เพราะด้วยสภาพภูมิศาสตร์ทำให้มีสินค้าด้านการท่องเที่ยวที่จะเป็นจุดขายดึงดูดได้ไม่มาก ทำให้ททท.ต้องมุ่งสร้างและเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆเข้าสู่พื้นที่ ซึ่งสิ่งที่จะเริ่มดำเนินการได้ทันที คือ การดึงการจัดประชุม สัมมนา และกิจกรรมระดับนานาชาติให้เข้าไปจัดที่ขอนแก่นเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับในอนาคตที่เมืองแห่งนี้กำลังจะมีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่เปิดให้บริการ

 

          ดันสภาท่องเที่ยวโลกประชุม
 
          โดยอาจจะเริ่มจากการดึงกิจกรรมบางงานของการจัดประชุม"2017 WTTC Annual Global Summit" ซึ่งเป็นงานประชุมประจำปีของสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก(World Travel & Tourism Council - WTTC) ในเดือนเมษายน 2560 ที่กรุงเทพฯเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ดึงบางกิจกรรมหรืออีเวนต์พรี-โพสต์ทัวร์ ไปยังขอนแก่น รวมถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าอาจจะดึงให้เกิดการจัดงานThailand Travel Mart Plus Amazing Gateway to the Greater Mekong Subregionหรือ TTM+ในปีหน้าที่ขอนแก่น เป็นต้น
 
          นอกจากนี้ยังจะส่งเสริมให้มีการเปิดเส้นทางบินตรงจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสำนักงานททท. โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม ไปประสานกับทางสายการบินเวียดเจ็ท ถึงความเป็นไปได้ในการเปิดเส้นทางบินฮานอย หรือโฮจิมินห์ เข้าสู่ขอนแก่น โดยชูจุดขายการท่องเที่ยวขอนแก่น เชื่อมโยงกับจังหวัดใกล้เคียงอย่างมุกดาหาร นครพนม
 
          "ปัจจุบันเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยที่มีการเดินทางท่องเที่ยวเกิน 5 ล้านคน ล้วนเป็นเมืองท่องเที่ยวเดิม คือกรุงเทพฯ, พัทยา, ภูเก็ต, สมุย, เชียงใหม่ แต่ขอนแก่น โมเดล จะเป็นรูปแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงพื้นที่ ที่มีโอกาสพัฒนาให้เป็นจุดขายใหม่ของเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยได้ จากพื้นฐานการพัฒนาศักยภาพในพื้นที่ ซึ่งมีแผนการยกระดับการให้บริการทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางบกและทางอากาศ ทั้งยังเป็นเมืองที่โดดเด่นเรื่องของการศึกษา และมีสถานพยาบาล โรงพยาบาลชั้นนำ ที่มีโอกาสพัฒนาให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางด้านเฮลธ์แอนด์เวลเนสของอาเซียนได้ โดยททท.จะส่งเสริมให้คนจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเยือนขอนแก่นได้ โดยชูเรื่องของการศึกษา และการรักษาพยาบาล"นายยุทธศักดิ์ กล่าว

          "ทีเส็บ"ยกเป็น1ใน5 ไมซ์ซิตี

          ด้านนายนพรัตน์ เมธาวีกุลชัย ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยว่า จังหวัดขอนแก่น เป็น 1 ใน 5 เมืองไมซ์ซิตีหลักของประเทศไทย ที่ทีเส็บให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับอีก 4 เมือง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และพัทยา โดย ทีเส็บ มีนโยบายขับเคลื่อนตามแผนแม่บทขอนแก่น ไมซ์ซิตี (พ.ศ.2557-2561) เพื่อผลักดันให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการจัดประชุมและการแสดงสินค้าที่สร้างโอกาสทางธุรกิจในระดับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
 
          โดยจะดำเนินการภายใต้ 5 แผนยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. ผลักดันให้มีการจัดงานไมซ์ในจังหวัดอย่างต่อเนื่อง 2. ยกระดับมาตรฐานบริการสู่ระดับสากล 3. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในประเทศและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง 4. ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวก และ 5. สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำด้านธุรกิจไมซ์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านการสร้างแบรนด์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการในระยะที่ 1 ไปแล้ว คือ มุ่งเน้นการสร้างความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายความร่วมมือในระดับท้องถิ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการในระยะที่2 (พ.ศ.2559-2560) ซึ่งจะขยายกรอบการทำงานเพิ่มความมั่นใจในการเป็นศูนย์กลางไมซ์ ส่งเสริมการจัดงานระดับเมกะโปรเจ็กต์ และความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อพัฒนาขอนแก่นไปสู่เมืองไมซ์ซิตีที่เข้มแข็งและยั่งยืน
 
          ลุยเมกะโปรเจ็กต์ 3.95 หมื่นล.
          แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม เผยว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดขอนแก่น สำหรับโครงการหลัก ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ และแผนการพัฒนาในอนาคตจะมีทั้งหมด 5 โครงการหลัก เป็นโครงการลงทุนของภาครัฐและเอกชนกว่า 3.95 หมื่นล้านบาท  ได้แก่ 
 
1. การพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง ซึ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1 เมตร อาทิ รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร งบประมาณ 2.34 หมื่นล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559  รถไฟทางคู่ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 172 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการออกแบบ และจัดทำรายงาน EIA โครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายบ้านไผ่ - นครพนม ระยะทาง 355 กิโลเมตร ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบรายละเอียด พร้อมจัดทำเอกสารประกวดราคาแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน EIA
 
          2. โครงการขอนแก่น Smart City (เฟส1)ระบบขนส่งมวลชนรางเบา ที่จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5 แห่ง มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง KKTT ได้เสนอขออนุมัติการก่อสร้างรถไฟฟ้ามวลเบา สาย เหนือ - ใต้ ระยะทาง 26 กิโลเมตร (สายสำราญ-ท่าพระ) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ใช้พื้นที่เกาะกลางถนนและไหล่ทางถนนมิตรภาพ จากตำบลสำราญ ถึงตำบลท่าพระ โดยการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน โครงการนี้ได้รับอนุมัติในหลักการจากคสช. ซึ่งจะมี 18 สถานี มี 15 ขบวน ขบวนละ 3 ตู้ บรรจุผู้โดยสารได้ 180 คน คาดเสร็จปลายปี 2562 ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดประกอบการเสนอหน่วยงานส่วนกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำเสนอขออนุมัติจากครม.
 
          3.การขยายโครงข่ายถนน อาทิ ถนนกัลปพฤกษ์ ระยะที่ 3 (ศรีจันทร์ - เหล่านาดี) กรมทางหลวงชนบท ทบทวนการออกแบบแนวทางการก่อสร้างใหม่ ถนนผังเมือง ข.5 (หน้า ร.พ.ศรีนครินทร์- ร.พ.ค่ายศรีพัชรินทร) กรมทางหลวงชนบทและบรรจุเข้าแผนงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560  ก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางรถไฟ บริเวณจุดตัดทางรถไฟบ้านหนองไผ่ งบประมาณ 411 ล้านบาท แล้วเสร็จในปี 2560  ฯลฯ


          ขยายสนามบินรับ1.5ล้านคน/ปี
 
          4. แผนการพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น ซึ่งมองการขยายผู้โดยสารเพิ่มจาก 1.5 ล้านคนต่อปี เป็น 4-5 ล้านคนต่อปี โดยในขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการศึกษาออกแบบ ซึ่งตามแผนจะเป็นการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบลงทุนราว  2,100 ล้านบาท คาดว่าจะนำเสนอครม.บรรจุงบประมาณได้ในปี 2561 เพื่อให้ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2563
 
          5.โครงการศูนย์การประชุมและแสดงสินค้าขอนแก่น ขนาดพื้นที่ 4.35 หมื่นตร.ม. มีห้องอเนกประสงค์ 2 ห้อง 7,500 ตร.ม.ห้องประชุม 1-7 พื้นที่ 1,000 ตร.ม. ลานจอดรถยนต์ 480 คัน ดำเนินการลงทุนโดยบริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด (มหาชน) มูลค่าการลงทุนราว 2,000 ล้านบาท แล้วเสร็จเดือนธันวาคม 2560
 
          ซีพีแลนด์เปิดศูนย์ประชุมQ4/60
 
          นายสมเกียรติ เรือนทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซีพี แลนด์ จำกัด (มหาชน) เผยถึงโครงการศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ขอนแก่น ว่าจากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทำให้จังหวัดขอนแก่นเปรียบเหมือนเมืองหลวงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งทีเส็บได้ส่งเสริมให้ขอนแก่นเป็นศูนย์ประชุม(ไมซ์ซิตี)อันดับที่ 5 ของประเทศ ดังนั้น ซีพีแลนด์ จึงได้ลงทุนสร้างศูนย์ประชุมฯ ขึ้นมารองรับการเป็นไมซ์ซิตี รองรับการจัดประชุมและแสดงสินค้าในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือและต่อเนื่องถึงประเทศเพื่อนบ้าน
 
          โดยโครงการนี้มีพื้นที่ 26 ไร่ สามารถรองรับคนได้สูงสุดถึง 8,000 คน งบลงทุนเกือบ 2,000 ล้านบาท  ใช้เวลาก่อสร้าง 16 เดือน จะทดลองบริการในไตรมาสสุดท้ายปี 2560 และเปิดเต็มรูปแบบในปี 2561
 
          "ในระยะ 5 ปีข้างหน้าขอนแก่นจะต้องเป็นศูนย์รวมของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงรวมทั้งประเทศไทย ที่จะจัดงานประชุมขนาดใหญ่นอกเหนือจากกรุงเทพฯ โครงการของเราสามารถตอบโจทย์ภาครัฐในการส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีซึ่งเป็นฐานธุรกิจของประเทศ ให้มีเวทีในการจัดแสดงสินค้ารวมถึงการจัดฟอรัมต่างๆ ด้วย" นายสมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
 
          ดีเดย์รถไฟฟ้ารางเบากลางปีหน้า
          นายสุรเดช ทวีแสงสกุลไทย  ที่ปรึกษา บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (เคเคทีที)   เผยว่า ขณะนี้โครงการ ขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา มีความคืบหน้าไปมาก โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้กลางปี 2560  หลังจากการทำประชาวิจารณ์ จากภาคประชาชนมีเสียงเห็นด้วยถึง 82 % อีกทั้งโครงการนี้ไม่ได้รอเงินงบประมาณจากรัฐบาลแต่จะเป็นการระดมเงินลงทุนโดยภาคเอกชนนักธุรกิจในท้องถิ่น และมีการระดมทุนเบื้องต้นแล้ว 200 ล้านบาท ถ้าเริ่มลงมือก่อสร้างก็สามารถระดมทุนผ่านเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆได้
 
          นอกจากนี้ทางจังหวัดยังมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประสานมี 38 หน่วยงานเข้าร่วมโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อผลักดันให้โครงการเดินทางโดยได้มีการหารือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมเช่นการขอใช้พื้นที่ของรัฐ 200 ไร่ในการตั้งสถานีซ่อมบำรุง กรมทางหลวงในการขอใช้เขตทาง หารือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อเตรียมเรื่องกระแสไฟไว้รองรับ และเริ่มมีความเคลื่อนไหว จากบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในท้องถิ่นและส่วนกลางเริ่มเข้าสำรวจสถานีรถไฟฟ้าเพื่อเตรียมพัฒนาโครงการ

ที่มา นสพ.ฐานเศรษฐกิจ / ภาพ คุณต่อ yes man







เว็บโฮสติ้ง

เว็บโฮสติ้ง   Cloud Web Hosting   Streaming Server   VPS